ปลัด สธ.ห่วง "ไข้เลือดออก" ป่วยพุ่ง ตั้งแต่ต้นปีพบ 1.6 หมื่นราย คาดเดือนหน้าป่วยเพิ่มอีกหลังเข้าฤดูฝน ดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง ทั้งโรงเรียน วัด สถานที่ราชการ โรงงาน จ่อประสาน ศธ.สำรวจกำจัดแหล่งยุงลาย เผยเสียชีวิต 17 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ มีภาวะอ้วนยิ่งเพิ่มความเสี่ยงดับ ซื้อยาบางกลุ่มกินเองจนเลือดออกมากขึ้น บางส่วนมีไข้แต่คิดถึงโควิดก่อน ทำให้รักษาช้า เหตุอาการคล้ายหลายโรค วินิจฉัยได้ยาก เตรียมทำหนังสือทุกจังหวัดเฝ้าระวัง
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ภายในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโควิด 19 มีการรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกด้วย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก โดยตั้งแต่ต้นปี ม.ค. 2566 มีผู้ป่วยแล้ว 16,650 ราย มกกว่าปีที่แล้วหลายเท่า เสียชีวิต 17 ราย ยิ่งช่วงนี้เข้าฤดูฝน ซึ่งโรคไข้เลือดออกมีการระบาดตามฤดูกาลคล้ายโควิด คาดว่าเดือนหน้าจะมีผู้ป่วยขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายตามบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ต่างๆ ปีนี้ พบว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก บางสถานการณ์มีมากกว่า 50% กลุ่มที่มีลูกน้ำยุงลายสูง คือ โรงเรียน วัด สถานที่ราชการ และโรงงาน โดยจะแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการสำรวจลูกน้ำยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตของทั้ง 17 รายนั้น หลังๆ การเสียชีวิตพบในผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งเดิมเข้าใจว่าเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปีหรือเด็กโตเป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้ใส่ใจระมัดระวังกลุ่มนี้ อัตราการเสียชีวิตจึงลดน้อยลง แต่ระยะหลังผู้ใหญ่ที่คิดว่าโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกมีน้อย พบว่าเป็นเยอะขึ้น มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ภาวะอ้วนทำให้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก รวมถึงการวินิจฉัยล่าช่า บุคลากรทางการแพทย์เองและผู้ป่วยที่เป็นไข้ ส่วนใหญ่คนจะนึกถึงโควิด แต่ลืมนึกถึงไข้เลือดออก บางครั้งไปกินยาที่ทำให้อาการไข้เลือดออกรุนแรงมากขึ้น เช่น ยากลุ่มเอ็นเสด แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ดังนั้น ถ้ามีอาการไข้สงสัยให้ปรึกษาแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่าซื้อยากินเอง ยาที่อาจเป็นอันตรายทำให้เลือดออกง่ายขึ้น จะช่วยลดการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก
เมื่อถามถึงนางกิ๊ป ตันน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่ถูกจับกุมดำเนินคดีกรณีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก หลังมีการร้องเรียนการวินิจฉัยรักษาล่าช้า นพ.โอภาสกล่าวว่า มอบทีมงานไปสอบสวนดูว่าเกิดจากอะไร เพราะจะมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออกอาการช่วงแรกๆ จะเหมือนกับโรคอื่นหลายโรค ทั้งโควิด ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู ถ้ามาครั้งแรกจะไม่มีใครวินิจฉัยได้ ถ้ามาครั้งแรกแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้กลับไปพบแพทย์คนเดิม บางทีมีการเปลี่ยนสถานที่รักษาบ่อยก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ก็คงต้องดูทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกัน และต้องย้ำเตือนโรคไข้เลือดออกจริงๆ ระยะแรกไม่ใช่โรคที่วินิจฉัยได้ง่าย ต้องให้ความใส่ใจและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จะย้ำเตือนและมีหนังสือสั่งการไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ใส่ใจเรื่องไข้เลือดออกเพิ่มเติม