เปิดสูตรทาครีมกันแดดทุกส่วนของร่างกาย ทาทั้งตัวต้องใช้สูง 40 ข้อนิ้ว เฉพาะใบหน้าและลำคอ 2.5 ข้อนิ้ว แนะวิธีเลือกและใช้อย่างเหมาะสม ระวัง 4 สารกันแดดห้ามใช้นำเข้าอุทยาน ส่งผลปะการัง และวิธีการใช้ครีมกันแดดในเด็กเล็ก
ผศ.ภญ.บุญธิดา มระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอาง ภาควิชาเภสัชกรรม สาขาเภสัชกรรมเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเปิดบ้านสภาเภสัชกรรม คุยข่าวเล่าเรื่อง "เผยทุกปัญหาการใช้เครื่องสำอางในโลกโซเชียล" ว่า เรื่องค่า SPF ของครีมกันแดดนั้น ตัวเลขค่า SPF คือ หากเราทาครีมกันแดดอย่างทั่วถึง จะสามารถตากแดดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่าของระยะเวลาเดิมที่เคยทนได้ เช่น ถ้าอยู่กลางแสงแดดจัด 15 นาทีแล้วผิวหนังเริ่มแสบแดง หากทาครีมกันแดด SPF 15 ก็จะทนแดดเพิ่มขึ้น 15 เท่าจากเวลา 15 นาที หากค่า SPF50 ก็จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 50 เท่า อย่างไรก็ตาม การใช้ค่าสูงๆ ก็จะทำให้มีโอกาสได้รับสารเคมีสูงขึ้นด้วย ดังนั้น การใช้ครีมกันแดดต้องใช้อย่างเหมาะสม โดยทาก่อนออกแดด 15-30 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
"ปริมาณการทาครีมกันแดดที่เหมาะสม คือ 2 มิลลิกรัม/ตารางเซนติเมตร หรือเทียบเท่ากับ 1 ข้อนิ้ว หรือประมาณ 5 กรัม ซึ่งแต่ละส่วนของอวัยวะจะใช้ปริมาณแตกต่างกัน ดังนี้ ใบหน้าใช้ 2 ข้อนิ้ว , ใบหน้าและลำคอ 2.5 ข้อนิ้ว , ลำตัวหน้า 7 ข้อนิ้ว , ลำตัวหลัง 7 ข้อนิ้ว , แขนข้างเดียว 3 ข้อนิ้ว , ฝามือข้างเดียว 1 ข้อนิ้ว , ขาข้างเดียว 6 ข้อนิ้ว และเท้าข้างเดียว 2 ข้อนิ้ว ดังนั้น หากจะทากันแดดทั้งตัวต้องใช้ครีมกันแดดประมาณ 40 ข้อนิ้ว" ผศ.ภญ.บุญธิดากล่าว
ผศ.ภญ.บุญธิดากล่าวว่า สำหรับค่า PA มีตั้งแต่ + จนถึง ++++ ซึ่งยิ่ง + มากก็ยิ่งกันยูวีได้มาก ซึ่งแสงยูวีทำให้ผิวเหี่ยว เกิดฝ้า และมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนการกันน้ำ (water resistant) คือ กันน้ำ 40 นาที เมื่อวัดผลค่า SPF ไม่เปลี่ยนแปลงจึงจะเคลมว่ากันน้ำได้ ส่วนกรณีการห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่ส่วนประกอบของสารเคมีที่อันตรายต่อปะการังเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาตินั้น มีการประกาศสารกันแดดทั้งหมด 4 ตัว คือ Ethylhexyl Methoxycinnamate , Oxybenzone , 4-Methylbenzylidene camphor และ Butylparaben เนื่องจากเกิดการฟอกขาวของปะการังและตัวอ่อนปะการังผิดรูป ดังนั้น การเข้าไปเล่นน้ำในอุทยานก็ต้องเลือกครีมกันแดดที่ไม่มีสารเหล่านี้ เพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกครีมกันแดดเมื่อไปเล่นน้ำลงทะเล จึงควรใช้ครีมกันแดดที่กันน้ำ เพราะจะเกาะติดผิวได้นาน ไม่ชะล้างลงแหล่งน้ำ และลดการปนเปื้อนลงสิ่งแวดล้อม หรือเป็น "Biodegradable" ที่สามารถย่อยสลายได้เอง
ผศ.ภญ.อัญชลี จินตพัฒนากิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอาง ภาควิชาเภสัชกรรม สาขาเภสัชกรรมเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า สำหรับการใช้ครีมกันแดดในเด็กเล็กนั้น เราไม่แนะนำให้ใช้ครีมกันแดดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากผิวของเด็กมีความบอบบาง อมน้ำ และชุ่มชื้น ทำให้สามารถซึมเข้าสู่ผิวได้ง่าย จึงเสี่ยงที่จะมีโอกาสซึมเข้าสู่ผิว เกิดอาการระคายเคืองได้สูง จึงต้องใช้วิธีอื่นช่วยบังหรือกันแดดให้เด็ก ส่วนเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปสามารถใช้ครีมกันแดดได้ แต่ควรใช้สูตรสำหรับเด็กโดยเฉพาะที่มีความอ่อนโยน ระคายเคืองผู้น้อย เพราะหากใช้ของผู้ใหญ่ทาอาจระคายเคืองผิวได้ หรือต้องใช้แบบ Non Chemical ส่วนการทากันแดดรอบดวงตาก็ต้องระมัดระวัง เพราะผิวรอบดวงตาบอบบางกว่าผิวหน้าส่วนอื่น 40% ทาแล้วซึมและระคายเคืองได้สูงกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ที่จะมีอาการก็มาจากส่วนผสมอื่นของครีมกันแดดหรือเครื่องสำอางอื่นๆ ที่ทำให้ผิวรอบดวงตาระคายเคือง ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงมีผลิตภัณฑ์สำหรับรอบดวงตาโดยเฉพาะ