xs
xsm
sm
md
lg

เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด จะทำอย่างไรเมื่อจุดเปลี่ยนหลังโควิด-เลือกตั้ง ทำร้ายเด็กและเยาวชนไทยโดยไม่รู้ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เขาว่ากันว่า เด็กและเยาวชนคือเดอะแบกของสังคม”
 
หากจะพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ คงต้องเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวเองที่มีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกปั้นและแต่งเติมให้กลายมาเป็นเดอะแบกความฝันและความคาดหวัง(ของคนอื่น) ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่เดิน ในขณะที่โตขึ้นไปไม่เท่าไหร่ก็พบกับความบอบช้ำจากการกดทับของปัญหาภูเขาน้ำแข็งในสังคม อาทิ ระบบการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งทางความคิด ไม่นับรวมสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง และสถานการณ์ทางการเมือง

ในขณะเดียวกัน บทบาทนอกบ้านของเด็กและเยาวชนก็ต้องแบกความคาดหวังในฐานะ “ฟันเฟืองชิ้นสำคัญ” สำหรับการเติบโตของประเทศ

นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดเวทีเสวนา “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566” จึงถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยเป็นพื้นที่ที่มีเสียงเด็กและเยาวชนเป็นที่ตั้ง นำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank : 101 PUB)

สร้างภูมิคุ้มกันให้กับ ฮาร์ดแวร์ชื่อเด็กและเยาวชน

(ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.)
“ในสถานการณ์ที่ใช้คำว่าทางสองแพร่ง ผู้จัดเองเน้นถึงทางเลือกของการเปลี่ยนแปลงในช่วงจังหวะเวลาสำคัญทั้งหลังโควิดและหลังการเลือกตั้ง เป็นข้อมูลจากมุมของเขา ซึ่งเราพบผลลัพธ์ที่น่าสนใจในหลายประเด็น”

นอกจากนั้น ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเสียงเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง

ในฐานะผู้ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อว่า ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพ หากพูดถึงกลุ่มวัยที่สำคัญต่อการลงทุน คงเป็นกลุ่มวัยเบอร์ต้นอย่างเด็กและเยาวชน ตั้งแต่เด็กประถมวัย-วัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่ทั่วโลกให้ความสำคัญที่สุด รวมทั้งเป็นหน่ออ่อนที่จะบ่มเพาะทั้งพฤติกรรม สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ และวิถีชีวิต

“พูดให้เห็นภาพ เปรียบเสมือนการสร้างฮาร์ดแวร์ให้พร้อมใส่ซอฟต์แวร์”

“การลงทุนในเด็กก็เหมือนเรามีคอมพิวเตอร์อยู่ แต่ถ้าหากฮาดแวร์นั้นไม่มีคุณภาพ คุณจะใส่ซอฟต์แวร์เท่าไหร่ มันก็รับได้จำกัด ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดก็ลดน้อยลง ถ้าไม่รักษาคุณภาพของคนรุ่นหลังให้แข่งกับพลเมืองโลกได้ ก็จะลำบาก ผู้ใหญ่เองก็จะลำบากตามไปด้วยในสังคมสูงอายุ” ดร.สุปรีดา กล่าว

(ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.)
ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ตลอดการทำงานร่วม 20 ปีที่ผ่านมาความสำเร็จทางด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนค่อนข้างน้อยและจำกัด เนื่องจากผลักดันเรื่องสำคัญไม่ได้มากนัก ปัญหาหนึ่งที่พบคือต้นแบบดี ๆ ที่เกิดในโรงเรียนและศูนย์นำร่องไม่ได้ถูกขยายให้ทั่วถึง รวมทั้งกลไกรัฐเองก็คงเป็นหนึ่งในข้อจำกัด

“ในปีหน้าสำหรับรัฐบาลใหม่ สิ่งที่ สสส. อยากให้โฟกัสที่สุดคงจะเป็นเรื่องสวัสดิการของเด็กเล็ก ซึ่งอย่างที่บอกว่า เป็นวัยที่สร้างฮาร์ดแวร์ ปล่อยช้าไปก็สาย กู้กลับไม่ได้ ซึ่งก็อยากให้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ถูกลงมือทำ ตามมาด้วยสวัสดิการของเด็กและเยาวชน ไม่ว่าเรื่องของแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน กระบวนการเรียนรู้ที่เด็กจะเข้าถึงได้ทั้งออนไลน์ และออนกราวนด์ ช่องทางการเรียนรู้ของเด็กที่เข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง”

“สุดท้ายคือสวัสดิการที่สัมพันธ์กับแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับการเลี้ยงดูบุตรด้วย ก็คิดว่า ถ้ารัฐบาลใหม่มีนโยบายชัดเจนตรงจุดนี้เองก็จะทำให้สถานการณ์เด็กและเยาวชนดีขึ้น” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวสรุป

ทำให้น้อย แต่ได้ผลมาก

(นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2)
ด้าน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนในปัจจุบันแสดงให้เห็นหลายประเด็นที่น่าสนใจ นับตั้งแต่ระบบความเหลื่อมล้ำการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งเศรษฐกิจถดถอยถูก Disruption ด้วยหลายเรื่อง และสุดท้ายคือการเมืองในม่านหมอก ซึ่งคาดว่าด้วยปัญหาภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ลดลง โดยหันไปคำนึงถึง ‘คุณภาพ’ มากกว่า

นพ.สุรเชษฐ์ เผยให้เห็นถึงตัวเลขที่น่ากังวลใจไว้ว่า อัตราเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีเพียง 502,000 คนเท่านั้น ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 595,965 คน มีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มกว่า 800,000 คน โดยปี 2565 มีอัตราการเกิดใหม่ลดลง 50,000-60,000 คน จากเดิมที่ลดลงเพียงปีละ 30,000 คน ซึ่งคาดว่า ปี 2566 จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ปัญหาเด็กและเยาวชนยังยึดโยงกับปัญหาครอบครัวและสังคมในหลายด้าน โดยจากข้อมูลมีเด็ก 40% ที่พ่อแม่ต้องทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายาย และต้องทิ้งภาคการเกษตรไปหารายได้ในภาคอุตสาหกรรมแทน ซึ่งภาคเกษตรที่มี Market Share ประมาณ 30% ของประเทศ พบ GDP (Gross Domestic Product) ลดจาก 10% เหลือเพียง 6-7% เท่านั้น

“ความเห็นของผมคือเราจำเป็นต้องเฝ้าสังเกต เลือกทำให้น้อย แต่เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ปีนี้ทำเรื่องนี้ แต่บางเรื่อง 2-3 ปีทำทีหนึ่ง เพราะทำทุกเรื่อง ดีทุกเรื่องไปไม่รอด ปัญหาของเราใหญ่ ผมจะไม่บอกว่าช้างป่วยหรือไม่ป่วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกบางเรื่องในการเฝ้าสังเกตและใช้กลไกลทุกภาคส่วนที่ต้องการหาทางออกมาร่วมมือกัน และเมื่อมีทางออกแล้ว มีข้อเสนอที่แหลมคมแล้ว จะเสนออย่างไรนี่ก็เป็นโจทย์ที่ยากมากในม่านหมอก จะทำยังไงให้หมอกมันจางให้เร็วขึ้น มองเห็นหนทางที่ชัดขึ้น เดินเร็วขึ้นแต่ใช้พลังงานน้อยลงเหมือนคนที่จะวิ่ง ถ้าการวิ่งไม่ดีมันก็วิ่งไม่ได้เร็ว เหนื่อยแล้วก็หมดพลังงานเสียก่อน”

นพ.สุรเชษฐ์ ปิดท้ายว่า การทำสิ่งเหล่านี้มันล้วนเป็นความท้าทายทั้งหมดเพราะปัญหาทุกเรื่องมีเอาไว้ให้แก้ร่วมกัน

มองปัญหาเป็นภาพใหญ่กว่าตัวเด็ก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงปัญหาเด็กและเยาวชน คงจะขาด คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนมาตลอด

แม้จะผ่านการทำงานทั้งการผลักดันนโยบายและงานเชิงกลไก ทั้งโรงเรียนสุขภาวะ ครอบครัวอบอุ่น การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาอนาคตเด็กไทย (แรกเกิด – 5 ปี) สร้างสุขภาวะในกลุ่มเด็กกลุ่มเปราะบาง สร้างแกนนำเยาวชนในสถานศึกษา ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายทุกระดับในการพัฒนาเด็ก

(คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว  สสส.)
คุณณัฐยา ยังคงมองว่า การทำงานในเด็กและเยาวชนยังคงมีความท้าทายและใช้วิธีการทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว

“สิ่งที่เราพบตลอดการทำงาน คือการทำงานพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพในเยาวชนและครอบครัวเป็นจุด ๆ ไม่อาจทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามาได้ สังคมที่ซับซ้อนขึ้น ปัจจัยแรงกดดันในชีวิต ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มันเพิ่มขึ้น เราทำไม่ได้ด้วยการทำงานทีละจุดเพราะฉะนั้นคอนเซปต์การทำงานที่บอกว่า เลี้ยงเด็ก 1 คนใช้คนทั้งหมู่บ้าน มันจึงเกิดขึ้นและสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกถอดรหัสออกมาเป็นวิธีการและยกระดับเป็นนโยบาย ไม่เช่นนั้นเราจะสู้กับความเสี่ยงและความท้าทายกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป นวัตกรรมเทคโนโลยี โลกยุควูก้า (VUCA World) ความไม่ลงรอยระหว่าง Genไม่ได้”

ดังนั้น คุณณัฐยา มองว่า การทำงานบนแนวคิดระบบนิเวศการพัฒนาเด็กจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุด ณ เวลานี้

“สิ่งที่มีอิทธิพลสำหรับเด็กและเยาวชน แน่นอนคือครอบครัว รองลงมาคือสถานศึกษา แหล่งเรียนรู้ แต่หลังจากนั้นจำเป็นที่จะต้องมีนโยบาย ระบบกลไกของภาครัฐเข้ามาจัดสวัสดิการบริการ รวมทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เข้ามามีบทบาทในการร่วมพัฒนาและขาดไม่ได้เลยคือชุมชนท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผู้เล่นสำคัญ”

สู่เป้าหมาย 300+1+2

แต่อย่างไรแล้ว สำหรับงานด้านขับเคลื่อน ตลอดจนงานปฏิบัติการ งานทำต้นแบบหรือแม้กระทั่งงานดิจิตอลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ยังต้องทำควบคู่ไปกับการศึกษาอย่างจริงจัง โดย สสส. วางแผนกำหนดกรอบ 3 เป้าหมายหลัก สำหรับการทำงานในเด็กและเยาวชนในระยะเวลา 5 ปี (2570) โดยใช้ประโยชน์ของเด็กและเยาวชนเป็นตัวตั้ง ได้แก่  300 ต้นแบบบูรณาการระดับพื้นที่ที่เกิดผลลัพธ์สุขภาวะและเยาวชน
 
1 ดิจิทัลแพลตฟอร์มและกลไกความร่วมมือพหุภาคี
2 ชุดข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มทรัพยากรให้ครอบครัวและเพิ่มที่เรียนรู้ใกล้บ้าน

“อย่างประเด็นการเพิ่มที่เรียนรู้ใกล้บ้าน จริง ๆ สสส. มองอะไรที่เรียบง่ายมาก ไม่ได้มองว่าภาครัฐจะต้องไปลงทุนทำห้องสมุดทุกตำบล ทำศูนย์เยาวชน หรือแหล่งกิจกรรมสร้างสรรค์ ไม่จำเป็น”

“เราสามารถมองมันเป็นเศรษฐกิจฐานรากได้ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจความรู้ ประชาชนที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ หากมีพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อที่จะเปิดกิจการแหล่งเรียนรู้หรือศูนย์กิจกรรมเยาวชน โดยที่ได้รับเงินอุดหนุน หากเขาทำกิจกรรมดี ๆ ให้เด็กและเยาวชนได้เดินมาเข้าร่วมกิจกรรมได้ เลิกเรียน ปิดเทอม เสาร์อาทิตย์ ไม่ต้องไปหากิจกรรมทำเอง แต่มีศูนย์เยาวชนแบบนี้รองรับเป็นการสร้างงานใหม่ไปด้วยในตัว อย่างที่บอกว่า เรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีปัญหาบริการและสวัสดิการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกันก็มีคนว่างงานเยอะ เราก็มาทำสิ่งเหล่านี้ Match กันเข้ามา กลายเป็นอาชีพใหม่ กลายเป็นเศรษฐกิจฐานรากจริง ๆ เด็กก็ไม่ต้องไปไหนไกล อันนี้เป็น Quick Wins เลยที่อยากฝากให้พิจารณา” คุณณัฐยา เสนอ

คิด for คิดส์ ตัวแทนเสียง ‘เด็กสมัยนี้’

(นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB หัวหน้าโครงการศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว)
กว่าจะเป็น “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566” นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB หัวหน้าโครงการศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว เล่าว่า คิด for คิดส์ ผ่านการทำข้อมูล Youth Survey สำหรับเยาวชนทั่วประเทศเกือบ 20,000 คนด้วย 5 ประเด็นคำถามใหญ่อย่าง ความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวและสังคมวงกว้าง การศึกษาการทำงานและคุณค่าทัศนคติของเยาวชน

“ข้อมูลเหล่านี้เราเชื่อว่า สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่หลายชิ้นหลายมิติตั้งแต่เรื่องพื้นฐานในชีวิต การเรียนรู้สิทธิของเยาวชนที่เขาต้องการ ปัญหาแห่งยุคสมัยอย่างปัญหาเรื่องของสุขภาพจิต ซึ่งปัจจัยความเครียดของเยาวชนแต่ละช่วงวัยก็ไม่เหมือนกัน เราเห็นว่า การศึกษาและการทำงานเป็นปัจจัยใหญ่ของเยาวชน แต่ปัจจัยอย่างเช่นการเงิน สังคม และการเมืองก็ยิ่งมีความสำคัญเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วง First Jobber ยิ่งกลายเป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุดอันดับ 1 จากข้อมูลพบว่าเยาวชนของไทย 62% รู้สึกเครียด และ 51% โดดเดี่ยวจนเยาวชน 1 ใน 3 มีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตอย่างน้อยหนึ่งด้าน”

และภายใต้ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง Shape ของสังคมที่มีต่อเด็กและเยาวชน ผ่านการวิเคราะห์ รวบรวมและจัดทำข้อมูลที่สำคัญต่อกระบวนการนโยบาย สื่อสาร ตลอดร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ‘คิด for คิดส์’ ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งข้อเสนอแนะในประเด็นที่กระทบต่อเด็ก เยาวชนและครอบครัวอย่างการปลดล็อกกัญชาที่ทำให้เกิดสุญญากาศทางกฎหมาย ทางเลือกที่พักอาศัยของสังคมสูง หรือจะเป็นการลดอายุเลือกตั้งให้เยาวชนถูกรับฟังผ่านระบบผู้แทน รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมีส่วนในการร่วมส่งเสียงและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางสังคมอย่างที่พวกเขาต้องการผ่าน Youth Policy Lab ที่นำเยาวชนมาร่วมคิดนโยบายออกแบบกรุงเทพฯ


การทำงานจนถึงวันนี้ ในฐานะตัวแทน คิด for คิดส์ นายฉัตร เอ่ยว่า งานทั้งหมดแสดงถึง DNA ในการทำงานของเราที่ต้องการทำเรื่องนโยบายเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นตัวกำหนดอนาคตของเด็กทั้งชีวิตและอนาคตของสังคมไปด้วยกัน เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือก

“เราไม่เอานโยบายเด็กและครอบครัวแยกออกจากโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย สังคมและวัฒนธรรม แต่เราพยายามปรับกระบวนการนโยบายให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิมและใช้ความรู้เป็นฐานในการสร้างการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ พวกเราก็ยังใช้ข้อมูลความรู้ระเบียบวิธีวิจัยและเครื่องมือใหม่ ๆ ผสมผสานเข้าด้วยกันในการสร้างความรู้ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว”

“ในอนาคตพวกเราก็ตั้งเป้าเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญ ผ่านการทำงานอย่างหลากหลาย และตั้งใจเป็นแหล่งสร้างเครือข่ายความรู้กับคนทุกกลุ่มวัยในสังคม เป็นระบบตอบโจทย์ที่ทันสมัย ตรงจุด เข้าถึงได้สะดวกและใช้ประโยชน์ง่าย”

อย่าปล่อยให้เด็กและเยาวชน ยืนงงกลางซากความเปลี่ยนแปลง

(ซ้าย นายสรัช สินธุประมา นักวิจัยศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ขวา นายวรดร เลิศรัตน์  นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว)
ต่อมาบนเวทีได้มีการนำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566 โดยสรุปออกมาภายใต้หัวข้อ “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง” แบ่งเป็นทางแพร่งหลังโควิด และทางแพร่หลังเลือกตั้ง โดยผลสำรวจพบว่า วิกฤต 2 เรื่องยังคงตกค้างต่อชีวิตเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งภายใต้บริบทของสองทางแพ่ง ‘คิด for คิดส์’ มองว่า มีสถานการณ์อยู่ 6 ประการที่ถือเป็นสถานการณ์สำคัญของเด็ก เยาวชนและครอบครัวในปีนี้ ได้แก่

1.เด็กและเยาวชนเติบโตในครอบครัวเปราะบางซ้ำซ้อน รายได้ครัวเรือนหด กระทบคุณภาพชีวิตเด็ก ครอบครัวยากจนที่มีเด็ก ฟื้นตัวยาก จากการสำรวจสถานการณ์ของยูนิเซฟ ประเด็นการฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 ในช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหารายได้ลดลง ซึ่งครอบครัวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและฟื้นตัวยากที่สุดก็คือครอบครัวยากจนที่มีเด็กในครอบครัว

“ผลสำรวจพบว่า 62% ของครัวเรือนทั้งหมด รายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนยากจนที่สุด โดยวิธีการรับมือกับผลกระทบทางด้านการเงินกว่า 53% จำเป็นต้องลดการบริโภคซึ่งจะกระทบกับเด็กแน่นอน ส่วนอีก 39% นำเงินเก็บออกมาใช้”

“นอกจากนั้นยังพบว่า ครัวเรือนที่มีเด็กเล็กจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงิน นำทรัพย์สินไปจำนำมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีเด็กถึง 2 เท่า” นายวรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว เปิดเผย

2.เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น
จากการสำรวจ เยาวชนคิดว่าการประสบความสำเร็จด้านการทำงานถือเป็นเป้าหมายชีวิตที่สำคัญที่สุดในทัศนคติของตัวเยาวชนเอง แต่ว่าทุกวันนี้ประเทศไทยกลับไม่มีงานให้เยาวชนเพียงพอและทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด-19 เป็นต้นมา

นายสรัช สินธุประมา นักวิจัยศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว นำเสนอว่า พบอัตราการว่างงานและว่างงานแฝงของเยาวชนเพิ่มขึ้นจาก 5.4% ในปี 2019 ขึ้นไปสู่ระดับ 8.3% ในปี 2021 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษโดยเป็นระดับที่สูงกว่าอัตราการว่างงานและว่างงานแฝงของผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไปถึง 3 เท่าตัว ทั้งยังมีโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งการว่างงานและว่างงานแฝงของเยาวชนให้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่จบอุดมศึกษา โดยมีอัตราการว่างงานหรือว่างงานแฝงสูงถึง 16.1% ในปี 2021

ซึ่งนอกจากงานไม่เพียงพอแล้ว งานที่มีอยู่ก็กระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ หลัก ๆ คือกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในขณะเดียวกันเยาวชนคิดว่า การหางานที่ดีนั้นยากกว่าการหางานทำ โดยปัจจัยสำคัญที่สุดที่เยาวชนใช้ในการเลือกงานคือรายได้ ความสอดคล้องกับความฝันและเวลาการทำงาน


3.เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา เจออำนาจนิยมในโรงเรียน พบนักเรียนอายุ 15 ปีครึ่งหนึ่งตกเกณฑ์ขั้นต่ำในทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งจากความสามารถที่ลดลงจะส่งผลให้เยาวชนเสียรายได้มากกว่า 600,000 บาท/คนตลอดชีวิต

4.เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง นักเรียนไทยเครียดสูงแตะ 32% หลังเปิดเรียนและกว่า 7,285 คนต้องอยู่กับโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย โดย 17 จังหวัดไม่มีจิตแพทย์เฉพาะทาง 

5.เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมากขึ้น ในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดกับเด็กและเยาวชน โดย 35.7% คือการล่วงละเมิดทางเพศ เฉลี่ย 459 ราย/ปี โดยอาการบาดเจ็บรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเด็กต่ำกว่า 10 ขวบ 

6.เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลาย แต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้าง-รับฟัง เยาวชนหวังให้มีการคุ้มครองเสรีภาพทางความคิด เปิดพื้นที่เพื่อคนหลากหลาย ทลายระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย แก้ปัญหาการทุจริต ปฏิรูปเศรฐกิจให้ทุกคน กินดีอยู่ดี-มีโอกาสเสมอกัน

เมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว คงพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า เด็กและเยาวชนเป็นช่วงวัยที่สวยงาม แต่ในทางกลับกัน กลับเต็มไปด้วยความเปราะบางและบอบช้ำทั้งจากปัญหาสุขภาวะ ครอบครัว และสังคมที่ล้วนแต่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยตัวเล็กลง อย่างไรก็ตามหวังว่า การจัดงานในวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเท่าเทียมให้กับเด็กและเยาวชนได้สำเร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น