xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารจัดการของสวย...ไม่ให้เป็นของเสีย กับการลดโลกร้อน สู่นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดอกไม้” แสนสวยนานาชนิดมักจะเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกในวาระต่างๆ ตั้งแต่การแสดงความยินดี ความรัก ความเคารพศรัทธา ความห่วงใย ตลอดจนการไว้อาลัยในวาระสุดท้ายของชีวิต

“จากสัญลักษณ์แทนใจ..สู่การตระหนักถึงการบริหารจัดการ”

แต่เดิมเชื่อว่าการมอบหรือส่งต่อของที่มาจากธรรมชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ของโลก..แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก๊าซมีเทน อันเกิดจากขยะอินทรีย์ กลับเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลให้โลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในระดับต้น ๆ โดยหลายประเทศได้มีการหยิบยกเอาปัญหาดังกล่าว มาตอกย้ำและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข

“อินเดีย..ดอกไม้แห่งความศรัทธา..สู่แนวทางการลดขยะที่ยั่งยืน”
ที่ประเทศอินเดีย กับ ขยะดอกไม้ที่มาจากการบูชาเทพเจ้าในแม่น้ำคงคา ซึ่งตามความเชื่อ ดอกไม้ที่ผ่านการบูชาจะไม่สามารถทิ้งลงถังขยะได้ ทำให้ดอกไม้ประมาณ 8 ล้านตันจบลงที่แม่น้ำสายใหญ่ของประเทศทุกปี ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวจึงได้มีแนวคิดรวบรวมดอกไม้ที่ถูกทิ้งเป็นขยะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ มาแปรรูปเป็นกระดาษ ธูป รวมถึงสีน้ำที่สามารถใช้ในเทศกาลสำคัญต่อไปได้ หลายหน่วยงานมองว่ากระบวนการและวิธีการรีไซเคิลขยะจากแม่น้ำและสร้างอาชีพดังกล่าว ถือเป็นการตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน ข้อ 12 หรือการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเป็นการจัดการอย่างถูกต้องเพื่อลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติ และลดของเสียโดยกระบวนการ Reuse และ recycle

“ออสเตรเลีย..เครือข่ายของธุรกิจดอกไม้ที่ใส่ใจความยั่งยืน”
นอกจากนี้ยังมีกรณีตัวอย่างของการจัดการอุตสาหกรรมจัดดอกไม้ขาย หรือ Floristry ในประเทศออสเตรเลีย ที่ได้มีการพบข้อมูลว่าเป็นวงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง เช่นการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในกระบวนการเพาะปลูก เพื่อรองรับความต้องการในโอกาสวันสำคัญต่างๆ รวมไปถึงการจัดดอกไม้ที่ยังใช้วัสดุประเภทพลาสติก โฟม และอื่น ๆ สำหรับทำพวงหรีดหรือซุ้มงานพิธี ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายหรือนำมารีไซเคิลได้ อีกทั้งดอกไม้ทั้งหลายได้กลายสภาพเป็นภูเขาขยะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก


Sustainable Floristry Network จึงเกิดขึ้น เพื่อให้นักจัดดอกไม้ได้เข้ามาเป็นเครือข่าย เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงฐานรากของ ‘ความไม่ยั่งยืน’ ดังกล่าว ให้หันมาผลิตด้วยเทคนิคและวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สามารถย่อยสลายและรีไซเคิลได้ เพื่อเป็นการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero emissions) ไม่ใช้สารพิษ และไม่สร้างขยะเพิ่ม โดยได้ดำเนินการคู่ขนานไปทั้งในส่วนของประชาชนผู้บริโภคและผู้ประกอบการ


“ประเทศไทย...กับความใส่ใจในเรื่องการคัดแยก..และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน”
สำหรับประเทศไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการ ต่างมีแนวคิดเพื่อเลือกมอบสิ่งที่ดี โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเองได้ขยับตัวให้ไปตามยุคสมัย สรรหาการให้บริการที่หลากหลายขึ้น แทนการให้ดอกไม้สดเพียงอย่างเดียว เช่น ให้ของใช้ หรือ การใช้วัสดุเทียมทดแทนเพื่อการใช้ซ้ำได้ ดีต่อใจ และดีต่อโลกควบคู่กัน

อย่างเช่น ในงานไว้อาลัยที่จะเห็น การใช้พวงหรีดเสื่อ ต้นไม้ จักรยาน พัดลม หรือแม้แต่เครื่องฟอกอากาศ แพร่หลายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พวงหรีดดอกไม้สด ยังคงเป็นที่นิยมที่สุดอยู่ โดยเฉพาะในงานใหญ่ๆ ของบุคคลสำคัญ ๆ ที่มีการไว้อาลัยด้วยพวงหรีดหลายพันพวง ทำให้ผู้จัดให้ความสำคัญในการจัดแผนบริหารจัดการรองรับเหตุดังกล่าว เพื่อไม่ให้พวงหรีดที่เป็นตัวแทนการแสดงความไว้อาลัยกลายเป็นขยะที่สร้างมลพิษกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีกระบวนการที่สำคัญคือ “การคัดแยก” แยกวัสดุต่างๆ ตามประเภทและการจัดการตามที่แตกต่างกัน เช่น ไม้ และ โอเอซิส นำไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง กระดาษและพลาสติก นำไปรีไซเคิล และเหลือทีเป็นดอกไม้สด เตรียมไปเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ย


บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด หรือ TBR หนึ่งในผู้นำด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว อย่างยั่งยืนในประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลถึงกระบวนการดังกล่าวว่า TBR ได้ จับมือกับ บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเชี่ยวชาญด้านการให้บริการดูแลและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมเครื่องกำจัดเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์ให้กลายเป็นปุ๋ย ซึ่งสามารถจัดการดอกไม้สดที่ได้จากพวงหรีดได้เช่นกัน ตัวอย่างงานไว้อาลัยที่มีจำนวนพวงหรีดดอกไม้สดกว่า 2,000 พวง เทียบเป็นขยะอินทรีย์จากดอกไม้สดได้กว่า 3 ตัน เมื่อนำไปผสมเข้าเครื่องจะเหลือเป็นปุ๋ยประมาณ 10% หรือประมาณ 300 กิโลกรัม โดยปุ๋ยที่ได้มีธาตุอาหารเพียงพอในการบำรุงดิน ดูแลพืชได้ สามารถส่งต่อให้กับหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ได้ทันที เช่น พื้นที่สีเขียวในสวนสาธารณะต่างๆ

จะเห็นได้ว่าปัญหาขยะและมลพิษไม่ว่าจะเกิดโดยธรรมชาติ หรือเกิดจากการสร้างของมนุษย์ หากขาดกระบวนการในการบริหารจัดการที่ดี และถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญ จากปัญหาเล็กๆ ก็สามารถขยายวงกว้างให้กลายเป็นปัญหาระดับโลกได้ เช่นเดียวกับดอกไม้ที่สวยงาม เมื่อถึงเวลาก็จะไม่กลายสภาพเป็นภูเขาขยะ เพราะได้รับความใส่ใจจากทุกคน รู้จักที่จะสร้างสรรค์แปรรูป เพิ่มมูลค่า ตลอดจนคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางและสร้างให้เกิดยั่งยืน..






กำลังโหลดความคิดเห็น