เตรียมปรับปรุงสวนหนองจอก ส่องสวน 15 นาทีแห่งใหม่ซอยเลียบวารี 21 จัดระเบียบผู้ค้าซอยเลียบวารี 25 สำรวจพื้นที่ Hawker center ตลาดอยู่ดีมีสุข ตรวจหม้อไอน้ำ (Boiler) โรงงานฟุตบอลล์ไทย เช็กระบบจัดเก็บภาษี BMA-TAX เขตหนองจอก
เมื่อวันที่ 18 พ.ค.เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหนองจอก ประกอบด้วย
ติดตามการปรับปรุงสวนหนองจอก ถนนเลียบวารี เขตหนองจอก พื้นที่ 35 ไร่ 2 งาน ซึ่งสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ได้รับโอนมาจากสำนักงานเขตหนองจอก เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ปัจจุบันอาคารสำนักงานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา บางส่วนเสื่อมสภาพได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ อาทิ โครงสร้างอาคารสำนักงานแตกร้าว ผุกร่อน หลังคารั่ว ฝ้าชำรุด ห้องสุขาสาธารณะมีเพียง 1 แห่ง แบ่งเป็นห้องน้ำชาย 4 ห้อง ห้องน้ำหญิง 5 ห้อง ห้องน้ำผู้พิการ 1 ห้อง ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับผู้ใช้บริการ ถนนทางเดินวิ่ง ระยะทาง 800 เมตร ชำรุดแตกร้าวเป็นหลุม พื้นไม่ราบเรียบสม่ำเสมอ เครื่องหมายพื้นทางไม่ครบถ้วน ระบบรดน้ำต้นไม้ (สปริงเกอร์) อุปกรณ์ข้อต่อ ปะเก็นยางสำหรับเสียบหัวสปริงเกอร์ ระบบหัวฝอยชำรุดเสียหาย ตระแกรงระบายน้ำ ระยะทาง 378 เมตร แบบเดิมเป็นแผ่นปูน มีการแตกร้าวและผุพัง เขื่อนสระน้ำด้านถนนเชื่อมสัมพันธ์ ชำรุดแตกร้าว ทำให้ดินทลายลงสระน้ำ ส่งผลให้สระน้ำตื้นเขินกักเก็บน้ำได้ปริมาณน้อย เรือนเพาะชำ ไม่มีหลังคาโปร่งแสง เวลาฝนตกทำให้ต้นไม้ที่เพาะใหม่ได้รับความเสียหาย ระบบสเปรย์หมอกชำรุดผุพัง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมพิจารณาขอจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ภายในสวนที่ชำรุดเสียหาย เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจภายในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร
ตรวจความก้าวหน้าการจัดทำสวน 15 นาที ซอยเลียบวารี 21 พื้นที่ 7 ไร่ (11,200 ตารางเมตร) เขตฯ ได้ดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ โดยใช้พื้นที่ 5 ไร่ จัดทำสวนหย่อมสำหรับสำหรับเดินวิ่งออกกำลังกาย และจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ แปลงปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ และถนนสำหรับสัญจรในพื้นที่สวน มีระยะทางในการเดินทางจากปากซอยถึงสวนประมาณ 200 เมตร ความคืบหน้าในการจัดทำสวน 90% อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ดังนี้ 1.พื้นที่ในส่วนที่เหลือ 2 ไร่ จะจัดทำเป็นสถานที่จอดรถสำหรับประชาชนที่เข้ามาออกกำลังกาย หรือศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตร 2.ดำเนินการก่อสร้างอาคาร สำหรับศูนย์เรียนรู้การจัดการด้านมูลฝอย เพื่อสาธิตและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ กิจกรรมด้านการเกษตร การปลูกผักยกแคร่ 3.ดำเนินการเทแอสฟัลต์พื้นถนนสำหรับสัญจร และทางเท้าเพื่อให้ประชาชนเดินวิ่งภายในสวน 4.การดูแลบำรุงรักษาไม้ยืนต้น เนื่องจากมีการขุดล้อมย้ายต้นไม้ขนาดใหญ่มาปลูก จึงต้องมีระยะเวลาในการบำรุงรักษาให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้เกิดความสวยงามของพื้นที่ นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาที่สาธารณะประโยชน์ ถนนมิตรไมตรี (คลองบึงแตงโม) พื้นที่ 2 ไร่ (3,200 ตารางเมตร) จัดทำเป็นสวนหย่อมสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ความคืบหน้าในการจัดทำสวน 20% โดยกำจัดวัชพืช ตัดแต่งต้นไม้ ขุดปรับพื้นที่ให้เป็นบ่อน้ำ จัดทำทางเดินสำหรับเดินวิ่งออกกำลังกาย เตรียมปลูกต้นไม้และปูสนามหญ้า สำหรับสวน 15 นาที ที่เขตฯ ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1 แห่ง คือสวนโรงเรียนมัธยมวัดพระยาปลา พื้นที่ 8ไร่ (12,800 ตารางเมตร)
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณซอยเลียบวารี 25 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 52 ราย ดังนี้ 1.ซอยเลียบวารี 25 ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. จำนวน 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-20.00 น. จำนวน 14 ราย และ 2.ซอยสุวินทวงศ์ 64 ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. จำนวน 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-20.00 น. จำนวน 4 ราย จากนั้นสำรวจพื้นที่ Hawker center บริเวณตลาดอยู่ดีมีสุข ปากซอยอยู่วิทยา 18 พื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินเส้นที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำ Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) โดยใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิง มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มีการใช้ไอน้ำในการผลิตลูกบอลยางและรีดผ้า นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 113,136 แปลง สำรวจแล้ว 112,612 แปลง คงเหลือ 524 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 70,305 แห่ง ห้องชุด 1,511 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 184,952 รายการ สำรวจแล้ว 184,428 รายการ คงเหลือ 524 รายการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ พร้อมทั้งสอบถามถึงระบบการชำระภาษี BMA-TAX ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหนองจอก สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล