xs
xsm
sm
md
lg

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อก้าวสู่วัยชรา เสริมภูมิคุ้มกันหัวใจและชีวิต จากยุคโควิด-19 สู่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่านพ้นการแพร่ระบาดไวรัสก่อโรคโควิด-19 ไปไม่นาน ข่าวคราวของ ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ กำลังก่อตัวอีกระลอก โดย มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ได้จัดงานเสวนา ‘ไข้หวัดใหญ่หายไปไหนในยุค COVID-19 และควรดูแลตัวเองอย่างไร’ โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และ ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ. นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ อาจารย์พิเศษ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ พร้อมด้วย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ร่วมแชร์เคล็ดลับ ‘การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ตามแบบฉบับของคุณหญิงจำนงศรี’ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพตนเอง และยังเป็นข้อมูลให้กับประชาชนทั่วไปในการนำไปประยุกต์ใช้กับการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

 


คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักคิด นักเขียน และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด วัย 84 ปี ต้นแบบของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง เปี่ยมสุข กล่าวถึงการเตรียมตัวเสริมภูมิคุ้มกันหัวใจและภูมิคุ้มกันชีวิตในผู้สูงอายุว่า “ตนเองดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ด้วยความที่ลูกชายเป็นแพทย์ จึงทำให้เข้ารับวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุครบถ้วน ตั้งแต่วัคซีนโควิด-19 รวมทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ซึ่งจะฉีดเป็นประจำทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ไม่มีอาการป่วยเป็นไข้หวัดน่าจะไม่น้อยกว่า 25 ปี เชื่อว่าการฉีดวัคซีนป้องกันช่วยได้มาก ซึ่งการฉีดวัคซีนไม่ได้น่ากลัว ส่วนตัวแทบไม่มีผลข้างเคียงอะไร นอกจากนี้การพักผ่อนและนอนให้เพียงพอก็ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีเป็นอย่างมาก สำหรับการเสริมภูมิคุ้มกันหัวใจ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ตนเองชอบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติบำบัด สร้างความรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญอยากให้ทุกคนมีการสื่อสารกันในทุกช่วงวัย นอกจากนี้ยังอยากให้ผู้สูงอายุได้ออกไปนอกบ้าน หรือทำอะไรที่ไม่อยู่เฉย เพราะถ้าทำอะไรน้อยก็จะมีเวลาคิดกังวลต่างๆ มาก แต่ถ้าทำอะไรสร้างสรรค์มาก ก็มีเวลาเครียดเรื่องอื่นๆ น้อย เป็นผลดีต่อใจ เมื่อใจสบายทุกอย่างก็ดี อยากให้อยู่กับชีวิตที่ยังอยู่อย่างมีดุลยภาพ และสุขตามอัตภาพ ส่วนไหนที่ป้องกันตัวเองจากโรคต่างๆ ได้ ก็ควรพิจารณาแนวทางนั้น รวมถึงการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม”


นอกจากนี้ ภายในงานเสวนาได้แชร์ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงโควิด-19 ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้สอนให้ผู้สูงอายุตระหนักถึงวิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเดินหายใจได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการมีวินัยในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปทำกิจกรรมนอกบ้าน การหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชนคนเยอะ ๆ การไม่สัมผัสของที่ใช้ร่วมกับคนอื่น รวมถึงการล้างมือสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยตนเองในขั้นต้น ถัดมาเพื่อความไม่ประมาท ครอบครัวและผู้สูงอายุควรวางแผนในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบ 4 สายพันธุ์ล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายและป้องกันอาการเสี่ยงถึงแก่ชีวิตเมื่อติดเชื้อ เพราะในกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีจุดด้อยในร่างกาย คือ 1. มีโรคประจำตัว ร่างกายเริ่มอ่อนแอ 2. เมื่ออายุมากขึ้นการตอบสนองวัคซีนต่ำ ดังนั้นสำหรับผู้สูงอายุที่พอมีกำลังทรัพย์ ควรเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ๆ ทีเดียว ซึ่งทราบว่าในปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมาโดยเฉพาะ

 


ขณะนี้ในประเทศไทย แม้จะยังเป็นช่วงหน้าแล้ง ฤดูร้อน ก็พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว 10% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาใน รพ. ด้วยอาการคล้ายไข้หวัด ทั้งที่ตามฤดูกาลไข้หวัดใหญ่จะก่อโรคและแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน เดือน พ.ค. มิ.ย. ดังนั้น ในฤดูฝนปีนี้ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จะเพิ่มขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด โรคเบาหวาน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็อาจจะแสดงอาการรุนแรงได้ โดยจากสถิติตัวเลข ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ 100 คน จะมีคนป่วยรุนแรง 1 คนที่ต้องเข้า ICU และจะมีอัตราเสียชีวิต 0.1% นั่นหมายถึงผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 1 ใน 10,000 คนจะเสียชีวิต และส่วนใหญ่มักจะมีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ ไต ปอด สมอง ซึ่งหากฉีดวัคซีนก็จะป้องกันการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุเป็นชนกลุ่มที่เสี่ยงอยู่แล้วด้วยอายุ เพราะฉะนั้นต้องชั่งน้ำหนักว่าระหว่างความเสี่ยงที่มีผลข้างเคียงเล็กน้อย จากการฉีดวัคซีนป้องกัน กับความเสี่ยงจากการติดโรคแล้วมีอาการรุนแรง เราจะเลือกเสี่ยงแบบไหน

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/ หรือทางทางเพจของมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น