มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย้ำ "อัยการสูงสุด" MOU แพทยสภา ไกล่เกลี่ย ให้คำปรึกษาแพทย์ ไม่เหมาะสม ทำอัยการขาดอิสระในการทำหน้าที่ ปชช.แคลงใจไม่ได้รับความยุติธรรมในการสั่งฟ้อง ซัดประเทศพัฒนาแล้วเขาไม่ทำกัน จี้ยกเลิกด่วน
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากกรณีสำนักงานอัยการสูงสุด ทำ MOU กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิ ช่วยเหลือทางกฎหมาย ด้วยการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท การช่วยเหลือทางอรรถคดีแก่ศัลยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เป็นกรณีพิเศษ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุด ยกเลิก MOU เพราะขาดความเหมาะสม กระทบต่อความเป็นอิสระและการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ อาจทำผู้ป่วยไม่ได้รับความเป็นธรรม
"หากสำนักงานอัยการสูงสุดยังคงจัดกิจกรรมตาม MOU ย่อมจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะต้องมีความเป็นอิสระ เพราะอัยการมีบทบาทหน้าที่พิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ เมื่อพนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ ตามที่ทำ MOU กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศ ย่อมส่งผลต่อกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นอิสระ เที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดีอย่างไม่อาจเลี่ยงได้" นายไพศาลกล่าว
นายไพศาลกล่าวว่า ล่าสุดวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกเอกสารคำแนะนำในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และการปฏิบัติตามกฎหมายของพนักงานอัยการ ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นเพราะสำนักงานวิชาการอาจเริ่มมองเห็นหรือทราบดีว่าการดำเนินการ MOU ฉบับนี้อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ จึงมีการกำชับด้วยการออกเป็นเอกสารกันภายในองค์กรว่า หากมีการ MOU ของสำนักงานอัยการสูงสุดอีกในอนาคต ควรมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ข้อสังเกตนี้เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ มิได้ส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ตาม MOU ที่ทำไปแล้ว
“ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดจะไม่มีการ MOU ลักษณะนี้กับองค์กรแพทย์อย่างแพทยสภา แพทยสมาคม หรือราชวิทยาลัยต่าง ๆ เพราะเขามองว่า ไม่มีความจำเป็นและจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ขององค์กรอัยการและองค์กรแพทย์ได้ โดยเฉพาะทำให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในทางคดีความ ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรมีการปฏิรูปแพทยสภา องค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข และตรวจสอบการทำงานขององค์กรเหล่านี้ เพราะมีคดีความที่แพทยสภาทำงานอย่างไม่โปร่งใส เข้าข้างแพทย์ด้วยกันเอง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม” นายไพศาลกล่าว
นายไพศาล กล่าวว่า เคยมีกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการเข้ารับบริการทางแพทย์บางรายร้องเรียนต่อแพทยสภา ซึ่งแพทยสภายกข้อกล่าวหาที่ร้องเรียนตามความเห็นของคณะอนุกรรมการที่เห็นว่าแพทย์ไม่มีความผิด แพทย์ให้การรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว แต่เมื่อผู้เสียหายนำคดีไปฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ตรวจสอบในเรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้เพิกถอนคำสั่งของแพทยสภา เพราะพฤติกรรมและการกระทำของแพทย์ที่ถูกร้องเรียน มีเหตุอันควรสงสัยว่าแพทย์มิได้ให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพ บางคดีญาติผู้เสียหายได้ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ รพ.จนชนะคดีความก็มี แต่ก็ใช้ระยะเวลานานหลายปี ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีกำลังทรัพย์ ไม่มีแพทย์มาเบิกความเป็นพยานให้กับผู้เสียหายก็คงไม่ได้รับความเป็นธรรม
"การทำ MOU นี้ จึงอาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน ในส่วนของภาคประชาชนจะยังคงเรียกร้องให้ สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวน หรือระงับกิจกรรมต่างๆ ที่จะดำเนินการร่วมกับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ต่อไป" นายไพศาลกล่าว