xs
xsm
sm
md
lg

"สูงวัย" กลุ่มใหญ่เลือกตั้ง ย้ำใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์ เปิดกว้างเด็กเห็นต่าง แนะรู้ให้ทันข้อมูลโซเชียล พบบิดเบือนน้อยยันปลอม 100%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จิตแพทย์เตือนสติ "ผู้สูงวัย" รับความเห็นต่างคนหนุ่มสาว ผ่านโลกมากสุด จิตใจต้องไม่คับแคบ แนะเลือกตั้งให้ใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์รักชอบเกลียดชัง COFACT ย้ำพิจารณาข้อมูลรอบด้าน พบโซเชียลมีตั้งแต่บิดเบือนเล็กน้อย ยันปลอม 100% กลุ่มคนตวดีชี้โอกาสดีรู้เท่สทันสื่อ-พรรคการเมืองโฆษณาชวนเชื่อ

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ THA Town Hall อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์ มีการจัดเวทีรู้ทันสื่อการเมือง “นโยบายขอเสียงผู้สูงอายุ” รับมือกระแสนโยบายหาเสียงชวนเชื่ออย่างมีสติและรู้เท่าทัน ก่อนเลือกตั้ง ปี 2566 โดยกลุ่มคนตัวดี บริษัท ทำมาปัน จำกัด ร่วมกับ ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้งอายุ สถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผอ.สํานักสรางเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุประมาณ 12.9 ล้าน คนคิดเป็น 20% ของประชากรในประเทศ เสียงของผู้สูงอายุมีส่วนสำคัญกำหนดอนาคตประเทศ การเข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงต้องเริ่มจากความเข้าใจในชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กฎกติกา ผู้สมัคร และนโยบายพรรค ผู้สูงอายุจึงต้องมีความสามารถเข้าถึงสื่อ ที่เป็นมืออาชีพและจริยธรรมสื่อ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูลว่าถูกต้องและเป็นประโยชน์


นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ถ้าตัดกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง คนสูงวัยคือ 1 ใน 4 ของประชากรที่มีสิทธิ อนาคตจะเป็น 1 ใน 3 ทั้งนี้ การเลือกตั้งต้องไม่ใช้อารมณ์รักชอบเกลียดชัง ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก ต้องใช้สติที่เกิดจากคุณภาพจิตที่ผ่านการฝึก นอกจากนี้ ผู้สูงอายุอยู่ร่วมกับลูกหลาน การเปิดใจกว้างเรียนรู้ร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ หนึ่งในสาเหตุที่ไทยไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ เพราะมีความเกลียดชังในความเห็นต่างสูง เช่น แบ่งพรรคแบ่งฝ่ายแบ่งสี กลุ่มคนอยากปฏิรูปกับอนุรักษ์สถาบัน เกิด Hate speech แล้วจึงใช้ความรุนแรง ประเทศที่ก้าวไปข้างหน้าได้ เขามองว่าความเห็นต่างคือต้นทุนสังคม ไม่มองว่าเป็นปัญหา ทำให้เขาก้าวข้ามปัญหาได้ ตรงข้ามกับบ้านเราที่ Hate Speech เป็นเรื่องปกติ หรือถ้าคิดต่างกับผู้มีอำนาจก็จะถูกเล่นงาน

“ผู้สูงอายุที่ผ่านโลกมามาก สามารถเป็นผู้จรรโลงสังคมให้เกิดการยอมรับความเห็นต่างได้ เราจึงควรมีจิตใจเปิดกว้างมากที่สุด เพราะถ้าเราผ่านโลกมากที่สุด แต่จิตใจคับแคบสุดก็ลำบาก จะบอกให้เด็กฟังผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ไม่ฟังเด็กก็ไปกันใหญ่ จริงๆ คนหนุ่มสาวผ่านโลกมาน้อย คนสูงวัยก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขา” นพ.ยงยุทธ กล่าว


น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT.ORG กล่าวว่า ขณะนี้นี้ COFACT ติดตามข่าวลวงทางการเมืองช่วงเลือกตั้ง 2566 พบว่ายุคนี้ไม่ได้ปลอมซะทีเดียว ส่วนใหญ่เป็นการบิดเบือนให้เข้าใจผิด มีตั้งแต่ข่าวลวงระดับเบาอันตรายน้อยที่สุด หากรู้เท่าทันก็จะไม่อันตราย แต่จะอันตรายกับคนไม่รู้เท่าทัน เช่น การทำมีม ภาพล้อเลียน ข้อความเสียดสี ตัดต่อ ล่าสุด แคมเปญหาเสียงของพรรคการเมืองที่ยิงเลเซอร์บนสะพานพระราม 8 ก็มีการทำภาพล้อเลียนมาดัดแปลงเป็นข้อความอื่นเผยแพร่ในออนไลน์ หลายท่านไม่ทราบว่าภาพต้นฉบับเป็นข้อความอะไร เมื่อเห็นภาพบิดเบือนก็คิดว่าเป็นของจริง อาจจะแชร์ต่อหรือเกิดอารมณ์ร่วม

ข่าวลวงระดับกลาง คือ มีความจริงบางส่วน หรือเป็นทฤษฎีสมคบคิด มักพบบ่อยในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง สร้างความไม่น่าเชื่อถือ ไปจนถึงเรื่องศาสนา อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับถือศาสนาอิสลาม ก็บิดเบือนว่าจะเผาวัด หรือนโยบายบางพรรคที่จะปรับโครงสร้างงบประมาณข้าราชการบำนาญ แต่บิดเบือนว่าจะยกเลิก ส่วนระดับแรงสุด คือ ข้อมูลปลอม 100% ตั้งใจทำมาใส่ร้ายป้ายสี ด้วยเจตนาไม่ดี

“การเลือกตั้งต้องตั้งหลักพิจารณานโยบายทางการเมือง ซึ่งเข้าใจได้ว่าพรรคการเมืองต่างพูดเรื่องดี แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ พูดเท็จใส่ร้ายคนอื่น ประชาชนที่รับข้อมูลมาแล้วต้องใจเย็นๆ พิจารณารอบด้าน และไปเลือกตั้ง โดยเลือกคนที่เราพอใจที่สุด แต่ให้มั่นใจว่าตัดสินใจอยู่บนฐานข้อมูลที่รอบด้าน” น.ส.สุภิญญา กล่าว


นายวันชัย บุญประชา ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพนักกระบวนกรสื่อสารสุขภาวะ กลุ่มคนตัวดี กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการ และกระทบต่อผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้เท่าทันสื่อเรื่องนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ใช้โอกาสนี้รับสื่ออย่างมีสติ เรียนรู้จากการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคการเมือง ซึ่งไม่แตกต่างจากการโฆษณาขายสินค้าทั่วไป ที่เน้นโน้มน้าวให้คนมาซื้อสินค้า เพื่อเตรียมตัวไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้ อย่างมีสติและรู้เท่าทัน

ด้าน น.ส.อรุณี ศรีโต อดีตประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การเลือกตั้ง 2566 ผู้สูงอายุมีอำนาจต่อรองมากขึ้นจากปี 2562 หลายพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับนโยบายเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุจะมีอำนาจอยู่อีก 2 วัน จนถึงวันที่ 14 พ.ค. หลังเลือกตั้งเขาจะไม่ไหว้เราแล้ว ดังนั้น ผู้สูงอายุเองจำเป็นต้องศึกษาและตั้งหลักก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง อย่างที่เห็นว่าตอนนี้มีนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุเยอะไปหมด ก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำได้หรือเปล่า จึงต้องศึกษา วิเคราะห์ให้ดี พิจารณาใช้สิทธิตัวเองให้มีคุณภาพ ผู้สูงอายุมีประสบการณ์เลือกตั้งหลายรอบ ต้องจำให้ได้ว่าพรรคไหนหาเสียงด้วยนโยบายอะไร เป็นรัฐบาลแล้วลืมสัญญาก็ต้องลืมเขาเหมือนกัน มิเช่นนั้นเขาจะไม่เข็ด

สำหรับการพิจารณานโยบายต้องดูภาพรวม ระยะหลังเห็นว่ามีบัตรคนจนขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องดีหรือน่าภาคภูมิใจที่ต้องไปแย่งลงทะเบียน เราต้องอยู่ในสังคมพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ผู้สูงอายุที่แข็งแรงจะต้องมีงานทำได้ ตรงนี้อาจจะต้องไปแก้กฎหมายกระทรวงแรงงาน เช่นกฎหมายโรงงานขนาด 200 คน ต้องจ้างผู้พิการ 2 คน ถ้าไม่จ้างก็จะต้องเสียค่าปรับ ผู้สูงอายุก็ควรคล้ายกัน โรงงานใหญ่ถ้าไม่จ้างผู้สูงอายุก็ต้องโดนปรับ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น