xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” แจงด่วนปมร้อนยิงเลเซอร์สะพานพระราม 8 รับตรวจเอกสารไม่ถี่ถ้วน หากรู้คงไม่อนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตั้งโต๊ะชี้แจงปมฉายแสงข้อความของ รทสช. บนเสาสะพานพระราม 8 ลั่นเป็นความเข้าใจผิด คิดว่าหาเสียงปกติ ยอมรับตรวจเอกสารไม่ถี่ถ้วน ย้ำหากรู้คงไม่อนุญาต โยน กกต.พิจารณา ผิดหรือไม่



วันนี้ (9 พ.ค.) ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีที่มีการฉายโปรเจคเตอร์ไปที่สะพานพระราม 8 ว่า พื้นที่สวนหลวงพระราม 8 กับพื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่กทม. อนุญาตให้ใช้ในการหาเสียงได้เพราะนโยบายของเราคือพยายามเปิดพื้นที่สาธารณะให้มากที่สุด โดย นางสาวทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ลานริมแม่น้ำเจ้าพระยา สวนหลวงพระราม 8 ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราอนุญาตให้ใช้ปราศรัยหาเสียง และแนบรายละเอียดการขอใช้งานมาด้วย ตอนที่ได้อนุญาตไป ไม่ทราบว่ามีการฉายโปรเจคเตอร์ไปที่สะพานพระราม 8 เพราะจริงๆ แล้วตัวสะพานไม่อยู่ในพื้นที่ที่เราอนุญาตให้หาเสียง และตัวสะพานไม่ได้อยู่ในส่วนของสวน แต่สะพานจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักโยธา ซึ่งพอได้ทราบเรื่อง ก็ไม่ได้อนุญาตให้การมีฉาย เนื่องจากการฉายภาพบนเสาของสะพาน อาจมีประเด็นในเรื่องของความไม่ปลอดภัยของผู้ที่ขับขี่รถสัญจรผ่านไปมา

ด้าน นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กทม. กล่าวด้วยว่า เรื่องการขออนุญาตใช้สถานที่บริเวณสวนหลวงพระราม 8 ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศกำหนดเป็นสถานที่สำหรับการปราศรัยหาเสียงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือผู้สมัครมาขออนุญาตใช้ก็ไม่ขัดข้อง แต่เงื่อนไขก็ต้องเป็นไปตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมกำหนดของแต่ละสวน อย่างเช่นกรณีการขอใช้ ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบค่าไฟฟ้าเอง เป็นเรื่องที่แต่ละสวนเป็นผู้กำหนดในหลักเกณฑ์ของการขออนุญาตใช้พื้นที่แต่ละแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดคล้ายๆกัน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาตามเจตนาแล้ว คงไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ถูกต้อง ทางผู้สมัครเองก็ได้มีหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ปราศรัย แต่ในรายละเอียดด้านในมีลักษณะของการฉายข้อความด้วย เราอาจจะไม่ได้เห็นตรงนี้ชัดเจน เพราะตอนนี้มีคนขอปราศรัยจำนวนมาก

ในส่วนของกทม.เอง ก็ไม่มีนโยบายที่จะให้มาฉายภาพบนสะพาน เพราะว่าอยู่นอกพื้นที่ที่เรากำหนดให้ปราศรัยหาเสียง และเป็นพื้นที่สาธารณะ อาจจะมีผลในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกทม. โดยตรงอาจต้องมีการเสนอให้กกต. พิจารณาอีกทีว่า ถ้าในอนาคตจะมีการขอฉายโปรเจคเตอร์บนตึกจะสามารถทำได้หรือไม่ และกกต. ต้องชี้แจงกับผู้สมัครด้วยเช่นกัน

“สรุปว่ามีการขออนุญาตในพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง พื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 และสวนหลวงพระราม 8 เป็นที่อนุญาตให้ปราศรัยหาเสียงตามปกติ แต่เอกสารแนบก็มีพูดอยู่เรื่องการฉายข้อความ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนขอ เข้าใจว่าเราอาจจะไม่ได้ดูละเอียดจุดนี้ ก็เลยอนุมัติว่าให้ใช้หาเสียงปกติได้ แต่พอเราพบก็คงแจ้งว่าตัวสะพานพระราม 8 อยู่นอกพื้นที่ เป็นพื้นที่ของสำนักโยธา และไม่ได้มีจุดประสงค์ให้พื้นที่นี้สำหรับการหาเสียง ประมาณนี้ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนมาก เชื่อว่าทุกคนก็พยายามทำตามระเบียบ พอมีข้อผิดพลาดต้องปรับปรุงแล้วแจ้งให้ทางพรรคทราบ ผมว่าทุกคนมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ การขออนุญาตใช้สถานที่ลานริมน้ำสวนหลวงพระราม 8 มีคนขอมาเยอะ แต่เราไม่ได้คิดว่าจะมีการฉายโปรเจคเตอร์ พอมีการทำถ้าไม่สอดคล้องก็ต้องแจ้ง จบลงด้วยความบริสุทธิ์ใจทั้ง 2 ฝ่าย เราเองก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะว่าพื้นที่อยู่ในรายการที่อนุญาตไว้ แต่รายละเอียดมันผิดพลาดเราก็บอกเขาไป ในส่วนของ กกต.เป็นอีกเรื่องหนึ่งว่าผิดหรือไม่ผิด หรือว่าต้องคลี่คลายอย่างไร อาจจะต้องรวมไปคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงหรือเปล่าก็ต้องพิจารณากันต่อไป ถือว่าเป็นบทเรียนคงต้องละเอียดมากขึ้นต่อการขออนุญาต อาจจะมีความคลาดเคลื่อนในแง่ของการสื่อสาร จุดมุ่งหมายหลักคือเราประกาศพื้นที่นี้เป็นพื้นที่หาเสียง ก็เข้าใจว่าเขามาหาเสียงปกติ เป็นบทเรียนที่ต่อไปเราจะต้องมาดูรายละเอียดให้มากขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ด้านนายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กทม. กล่าวถึงประเด็นข้อสงสัยกรณีที่พบว่าวันที่บนเอกสารขออนุญาตใช้สถานที่ริมแม่น้ำสวนหลวงพระราม 8 (ใต้สะพานพระราม8) เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของนางสาวทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยื่นต่อ นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร โดยเอกสารดังกล่าวลงวันที่เอกสารไว้ ‘8 พฤษภาคม 2566’ และทางกรุงเทพมหานครโดยสำนักงานปกครองและทะเบียน และศูนย์ประสานงานเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ลงวันที่รับทราบไว้ ‘7 พฤษภาคม 2566’

นายสุพจน์ กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่รับเอกสารจากนางสาวทิพานัน ได้รับเอกสารดังกล่าวตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม จึงมีการประทับตราและเขียนกำกับไว้วันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งเอกสารดังกล่าวนางสาวทิพานันนำส่งวันที่ 7 พฤษภาคมจริง แต่ที่มีการเขียนวันที่ไว้ว่า 8 พฤษภาคม คาดว่า ทางผู้ยื่นต้องการดำเนินการขออนุญาตตามวันและเวลาราชการเนื่องจากเป็นวันที่ 8 เป็นวันจันทร์

ทั้งนี้ในช่วงเวลาจัดการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 16 พฤษภาคม สำนักงานปกครองและทะเบียนและศูนย์ประสานงานเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ได้เปิดทำการทุกวัน โดยเปิดทำการวันจันทร์- ศุกร์ เวลา 08.30-18.30 น. ส่วนเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.30 น.

กรุงเทพมหานครขอยืนยันว่ากระบวนการรับทราบและอนุญาตเป็นไปตามขั้นตอนตามระเบียบของทางราชการไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ กรุงเทพมหานครพร้อมปฏิบัติด้วยความเป็นกลางและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย






















กำลังโหลดความคิดเห็น