สธ.ลุยแก้ปัญหาหนี้เสียบุคลากรสาธารณสุข เร่งสำรวจปัญหาร่วมธนาคารออมสิน คาดช่วง "โควิด" ระบาดบางส่วนอาจเกิดภาระหนี้ หาแนวทางช่วยเหลือศึกษาจากแนวทางของ ศธ.และตำรวจ ประสานสถาบันการเงินลดดอกเบี้ย ส่วนตำแหน่งว่างลดลงเหลือ 5% เร่งจัดสรรบรรจุ ส่วน ขรก.โควิดรอบ 2 อยู่ในการดำเนินการ
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัด สธ. ว่า วันนี้ได้ประชุมติดตามงานเชิงนโยบายหลายๆ เรื่อง เช่น การดูแลบุคลากรของ สธ. อย่างเรื่องการจัดสรรตำแหน่งว่าง ซึ่งพบว่า เปอร์เซ็นต์ตำแหน่งว่างลดลงจากเดิม 7-8% เหลือ 5% จึงเร่งรัดตรงจุดนั้น สำหรับการดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ พบว่าบุคลากรเรามีเรื่องภาระหนี้สินจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มากนัก แต่จำเป็นต้องดูแล จึงมอบให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. ดูแลเรื่องนี้ โดยประสานกับหน่วยงาน สถาบันการเงินต่างๆ ในการดูแล
ถามว่าเมื่อทำการจัดสรรตำแหน่งว่างข้าราชการของ สธ.เสร็จแล้ว จะยังมีการจัดสรรการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสองอีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นระยะ ซึ่งยังอยู่ในเรื่องที่มีการดำเนินการ
ถามต่อกรณีค่าเสี่ยงภัยโควิด 3 พันกว่าล้านบาทยังต้องรอสำนักงบประมาณใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องรอสำนักงบประมาณ ซึ่งต้องรอสถานพยาบาลทุกสังกัด ไม่ใช่แค่ สธ. หากส่งหลักฐานไม่ครบ เราก็ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างอยู่ที่การดำเนินการ ได้รับแน่นอน เพียงแต่ล่าช้าหน่อย
เมื่อถามกรณีกลุ่มลูกจ้างที่ไปยื่นสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องสิทธิลูกจ้างในสังกัด สธ. เมื่อวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านมา นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆ เป็นเรื่องที่มีการหารือร่วมกันแล้ว แต่จะขอรอข้อมูลจากทางสำนักนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้จะมีการสำรวจหนี้สิน โดยเฉพาะกลุ่ม NPL ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องคุยกับธนาคาร โดยเราจะดูตัวอย่างจากกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และของตำรวจ ซึ่งจะไปสำรวจ โดยพบว่ามีตัวเลขจากธนาคารแห่งหนึ่งมีตัวเลข 200 ล้านบาท โดยเราจะเจาะตัวบุคคล ดูเรื่องสถาบันการเงิน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายต้นๆ มีทุกจังหวัด โดยสถาบันการเงินจะเข้ามาช่วยลดภาระหนี้ด้วยการลดดอกเบี้ยให้ ขณะนี้มีการพูดคุยของคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องหนี้อยู่ ล่าสุดธนาคารออมสิน ก็จะมีแนวทางในการลดดอกเบี้ยให้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จะดูตัวอย่างความสำเร็จของสหกรณ์ฯ สัก 2-3 แห่ง และขยายต่อไป
เมื่อถามถึงการสำรวจข้อมูลหนี้สินบุคลากร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินของบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างหายาก เบื้องต้นทราบว่า สธ.เคยร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจปัญหาหนี้สินเมื่อปี 2562 จำนวน 6 หมื่นตัวอย่าง ก็จะนำข้อมูลนั้นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่จะทำการสำรวจร่วมกับธนาคารออมสิน ว่าตรงกันหรือไม่อย่างไร แล้วจึงค่อยหาแนวทางแก้ไขต่อไป โดยส่วนใหญ่บุคลากรจะกู้เงินไปเพื่อซื้อบ้าน บางส่วนอาจมีการประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ ซึ่งในช่วงโควิดระบาด อาจทำให้ประสบปัญหาด้านการเงิน ทำให้เป็นหนี้สิน โดยการแก้ปัญหาหนี้สินของ สธ.จะศึกษาต้นแบบจากการแก้ปัญหาหนี้สินของ ศธ.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง