เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เป็นประธานในการประชุมชี้แจงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศ และผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ สำหรับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) จัดขึ้น โดยมี ศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย รศ.รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กขค.) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 54 แห่ง เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมเมอร์เคียว กรุงเทพ มักกะสัน และผ่านระบบออนไลน์
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า นับตั้งแต่กระทรวง อว. ได้เริ่มต้นแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 4.กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา และ 5.กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ ตามกฎกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวแรกในการเดินหน้า “การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายในการพุ่งเป้าไปที่การพัฒนากำลังคนขั้นสูงให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และการส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาสร้างความเป็นเลิศ ตามการแบ่งกลุ่มที่ชัดเจน โดยในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ปัจจุบันมีจำนวน 19 แห่ง ที่ได้รับประกาศให้สังกัดกลุ่ม การประชุมชี้แจงในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศ และผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ พร้อมหารือร่วมกันในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา แนวทางการเขียนโครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การสนับสนุนงบประมาณการประเมินคุณภาพจากองค์กรรับรองระดับสากล และฐานข้อมูลสถาบันอุดมศึกษากับการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นต้น
ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ได้รับการประกาศให้สังกัดกลุ่ม จำนวน 19 แห่ง มีดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก จำนวน 1 แห่ง กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม จำนวน 1 แห่ง กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น จำนวน 8 แห่ง กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา (ไม่มี) และกลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ จำนวน 9 แห่ง การประชุมชี้แจงในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศและผลิตกำลังคนระดับสูงฯ แล้ว ยังเป็นการปรับแนวทางมุมมองให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ