xs
xsm
sm
md
lg

8 เหตุผล "บุหรี่ไฟฟ้า" ไม่ควรถูก กม. คนสูบเจอ "ไซยาไนด์" ในปัสสาวะสูง แจง WHO ให้เก็บภาษีแค่ประเทศไม่ห้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์ชี้ 8 เหตุผล "บุหรี่ไฟฟ้า" ไม่ควรถูกกฎหมาย อันตรายต่อสุขภาพ อันตรายน้อยกว่า ช่วยเลิกบุหรี่ ไม่ดึงดูดเยาวชน แค่ "มายาคติ" พบคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเจอ "ไซยาไนด์" ในปัสสาวะสูง 439.7 ng/mg ย้ำนิโคตินสูงกว่าบุหรี่มวน 50 เท่า ปรับสูตรใหม่เป็นเกลือนิโคติน ยิ่งสูบยิ่งติด สอดคล้องด้านเศรษฐศาสตร์ ยิ่งสูบยิ่งจน ชี้นักการเมืองหลายคนช่วยดัน เพราะรับฟังข้อมูลไม่รอบด้าน เกิด Rent Seeking ย้ำ WHO ให้เก็บภาษีเฉพาะประเทศไม่ห้าม

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาวิชาการ "บุหรี่ไฟฟ้ากับคนรุ่นใหม่" หัวข้อ "รู้ไหมว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย" เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก โดย รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวในเสวนาวิชาการ "ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรถูกกฎหมาย" ว่า ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย จริงๆ ก็คือบุหรี่ แต่บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนโฉมแต่งตัวให้เข้ากับยุคสมัย ในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษที่มีอันตราายต่อสุขภาพจำนวนมากเป็นพันชนิด มีสารก่อมะเร็ง สารเคมี โลหะหนักต่างๆ จำนวนมาก โดยพบเจอตัวอย่างผู้ป่วยจำนวนมากทั้งในต่างประเทศและในประเทศ ที่รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าในเวลาสั้นๆ จนไปทำลายปอด ดังนั้น ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรถูกกฎหมาย หากมองในมุมมองด้านสุขภาพ อันตรายบุหรี่ไฟฟ้ามีทั้งต่อตัวผู้สูบเอง คนรอบข้าง และทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเสพติดนิโคตินเพิ่มขึ้น ซึ่งมีนิโคตินมากกว่าบุหรี่มวน เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ ช่วยเลิกบุหรี่ได้ ไม่ดึงดูดเด็กหรือเยาวชน เป็นมายาคติที่บริษัทปั้นแต่งขึ้น

"บุหรี่ไฟฟ้าก็คือบุหรี่ แต่เป็นบุหรี่ที่เข้ากับยุคเรา ซึ่งจะไปสูบบุหรี่แบบเดิมไหม คงไม่ค่อยมีใครอยากสูบ เพราะรู้ว่าอันตราย กลิ่นเหม็น แต่พอปรับแต่งโฉมใหม่หลายคนก็อยากลอง จริงๆ คือบุหรี่ธรรมดา ต่างประเทศมีการรณรงค์กัน จริงๆ บุหรี่ไฟฟ้าคนขายก็คือบุหรี่ มันไม่ใช่เเหมือนแต่เป็นกลุ่มเดียวกันที่มาขาย"รศ.พญ.เริงฤดีกล่าว


รศ.พญ.เริงฤดีกล่าวอีกว่า ผลกระทบต่อสุขภาพ ความจริง 8 ข้อบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่ควรถูกกฎหมาย คือ 1.นิโคตินเป็นสารเสพติด บริษัทบุหรี่แต่งคำขึ้นมา พยายามเปรียบเทียบนิโคตินกับสารอื่นอย่างกาเฟอีน ซึ่งจริงๆ นิโคตินมีฤทธิ์เสพติดสูงมากกว่ากาเฟอีนหลายร้อยหลายพันเท่า ขึ้นสู่สมองได้เร็วมาก ไม่เกิน 7 นาที ติดง่ายเลิกยาก และที่กังวลหลายคนไม่รู้ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าบุหรี่มวน บางยี่ห้อสูงกว่าบุหรี่มวน 50 เท่า อันตรายน้อยกว่าจึงไม่น่าจริง ถ้าอายุไม่ถึง 25 ปี สมองยังเติบโตได้ หากมีสารพิษเสพติดเข้าร่างกาย จะไปทำลายการเจริญเติบโตของสมอง เราคงไม่อยากให้เกิดเช่นนั้น โดย 7 ใน 10 จะเลิกนิโคตินไม่ได้ไปตลอดชีวิต

2.บุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายจำนวนมาก บริษัทมักบอกว่าเป็นการสูบไอน้ำ จริงๆ ไม่ใช่ไอน้ำเปล่าธรรมดา แต่เป็นไอสเปรย์ที่มีสารเคมีออกมาจำนวนมาก สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก ฝุ่นพิษ PM 2.5 และที่เล็กกว่านั้น บริษัทบอกว่าสารเติมแต่งกลิ่น รสชาติในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเอามาผสมอาหารได้ กินได้ แต่การเอามาสูดดมเข้าคนละช่องทาง ที่กินได้ ไม่ได้แปลว่าสูดดมแล้วจะปลอดภัย สารที่ทำป๊อปคอร์นรสเนย Diacetyl กินก็ไม่เป็นอะไร แต่พอสูดเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบรุนแรง 3.ผลต่อปอดระยะสั้นรุนแรงกว่าบุหรี่มวน เพราะบุหรี่มวนสูบระยะสั้นมักไม่ค่อยเห็นป่วยรุนแรง คนป่วยมักอายุเยอะ สูบมา 20-30 ปี เจอถุงลมโป่งพองหรือมะเร็ง แต่บุหรี่ไฟฟ้าพบแล้วไม่นานหลักเดือน 1-2 ปีก็พบปอดอักเสบรุนแรง หรืออิวาลี

4.ผลระยะยาวยังไม่ทราบ แต่เมื่อผลระยะสั้นยิ่งกว่าบุหรี่ธรรมดา อนุมานได้หรือไม่ว่าจะอันตรายน้อยกว่า ก็คงไม่ได้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมีมา 10 กว่าปี แต่เรามีการแพทย์ทันสมัยทำให้พบอันตรายต่อระบบต่างๆ ทั้งปอด หัวใจ โดยกลไกมาจากนิโคติน และสารพิษที่จะเข้าไปสะสม ทำลายการสูบฉีดของหัวใจ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ แย่ลง มีงานวิจัยว่าบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคหอบหืดและถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้น 2 เท่า ทำลายเซลล์หลอดเลือดแดง 58% เสี่ยงเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน 2 เท่า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดโอกาสเสียชีวิตเฉียบพลันได้ นิโคตินทำลายสมองวัยรุ่นที่ยังโตไม่เต็มที่ รวมถึงมะเร็งในคนจากบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่เห็น แต่เอาหนูไปทดลอง รับไอบุหรี่ไฟฟ้า 1 ปี 1 ใน 4 หนูทดลองเป็นมะเร็งปอด ในคนจึงต้องติดตามต่อไปยาวกว่านี้ บุหรี่ไฟฟ้าทำลาย DNA ไม่ต่างจากบุหรี่มวน ทำให้เสี่ยงมะเร็ง ทำให้เสี่ยงตาบอดเพิ่ม 2 เท่า


"ล่าสุดพบว่า ปัสสาวะคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปตรวจ ก็พบสารไซยาไนด์เหมือนกัน เมื่อเทียบกับคนไม่สูบ ระดับไซยาไนด์ในปัสสาวะอยู่ที่ 115.5 แต่คนสูบบุหรี่มวนพบ 343.2 และบุหรี่ไฟฟ้าพบสูงถึง 439.7 ng/mg คือมีสารพวกนี้ในบุหรี่ไฟฟ้า คนไม่สูบคิดว่ากลิ่นไม่เหม็น อยู่ใกล้ไม่อันตราย เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดฝุ่นพิษ มลภาวะ ฝุ่น PM 2.5 ที่คนกลัว บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าค่าปกติ 45 เท่า และยังมี PM 1.0 อีกที่มีปริมาณสูง คนรับควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้สูบ แต่รับจากคนอื่น เสี่ยงหลอดลมอักเสบเพิ่ม 3 เท่า" รศ.พญ.เริงฤดีกล่าว

รศ.พญ.เริงฤดีกล่าวว่า 5.สารพิษต่างจากบุหรี่ธรรมดา ที่ไม่เคยพบในบุหรี่มวน ถามว่าอันตรายน้อยหรือมากกว่าก็สรุปยาก เพราะสารเคมีคนละตัว นักวิจัยมหาวิทยาลัยจอฟ์นฮอปกินส์ นำเอาบุหรี่ไฟฟ้ามาตรวจมีสารเคมีเกือบ 2 พันชนิดที่ไม่รู้จักและไม่มีในบุหรี่มวนมาก่อน 6.บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าทำการตลาดไปที่วัยรุ่น เอกสารลับบริษัทบุหรี่บอกฐานธุรกิจของเราคือนักเรียนม.ปลาย หากติดก็จะเป็นลูกค้าระยะยาว เป็นลูกค้าคนสำคัญในวันหน้า การสูบบุหรี่ในวัยรุ่นจึงสำคัญมากกับบริษัทบุหรี่ มีรสชาติต่างๆ เป็นหมื่นชนิด การออกมาเพื่อให้ผู้ใหญ่เลิกสูบคงไม่จริง เพราะมีการออกน้ำยากลิ่นต่างๆ รูปการ์ตูนเป็นของเล่นต่างๆ ที่ดึงดูดเด็ก นอกจากนี้ ยิ่งสูบยิ่งติด เพราะเป็นนิโคตินใหม่ เรียกว่า Nicotine Salts หรือเกลือนิโคติน ที่เปลี่ยนโครงสร้างนิโคตินให้สูบง่ายขึ้น ไม่แสบระคายเคืองคอ สูบง่ายก็ติดง่าย ยิ่งสูบยิ่งติด เป็นกลยุทธ์ในการดัดแปลงให้เด็กและเยาวชนยิ่งติด เด็กไทยที่เริ่มด้วยบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่ม 5 เท่า เพราะสูบแล้วไม่ถึง ถือเป็นต้นทาง คล้ายกับเบียร์ 0% ที่ไม่สุดก็ต้องไปดื่มเบียร์จริง เป็นกลยุทธ์เดียวกัน

7.บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ ถ้าช่วยเลิกได้จริง ก็ต้องเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ บุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ใช้แพลตฟอร์มเลิกบุหรี่ เพราะหันไปติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยเลิกบุหรี่ มีการรีวิวงานวิจัยทั่วโลก 44 ชิ้น สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ซื้อมาสูบเอง โดยไม่ได้มีแพทย์แนะนำให้สูบ พบว่า สุดท้ายเลิกไม่ได้ และ 8.บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย


รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนักการเมืองกำลังชูการเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นรายได้ของประเทศคุ้มหรือไม่ ว่า ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรถูกกฎหมายในมุมมองเศรษฐศาสตร์ ผู้สนับสนุนอ้างว่าทำให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย ไม่มีการลักลอบ ทำให้เก็บภาษีมาพัฒนาประเทศได้ แต่ปัจจุบันบุหรี่มวนก็ยังมีการลักลอบ แน่นอนว่าเก็บภาษีมากแค่ไหน ทั้งธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลก มีการศึกษาเรื่องยาสูบ ว่าการทำให้ถูกกฎหมาย เก็บภาษี ผลได้น้อยกว่าผลเสีย ไม่ว่าจะเก็บภาษีมากเท่าไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การทำลายสุขภาพด้วย ฉะนั้น ก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ใครจะต้องจ่าย ตัวผู้สูบก็จ่าย ครอบครัวอีก เสียการเสียงาน ค่ารักษาพยาบาลตัวเอง ในแง่ประเทศก็เสียหาย แทนยที่จะเอางบประมาณไปทำอย่างอื่น เอามารักษาพยาบาลเรื่องคนป่วยจากบุหรี่ที่ป้องกันได้ อย่างไรก็เก็บภาษีไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ภาษีที่ได้เรียกว่า ไม่ใช่รายได้ภาษีที่ยั่งยืน

"ในแง่เศรษฐศาสตร์ องค์การอนามัยโลกระบุในปี 2004 ว่า บุหรี่ยิ่งสูบยิ่งจนเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะคนจ่ายคือผู้สูบและครอบครัว เสียรายได้ที่ควรจะได้ ประเทศก็ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล เสียเงินตราต่างประเทศ เพราะสินค้านำเข้ามา และยังมีการลักลอบนำบุหรี่เข้ามาอีก ส่วนปี 2007 ระบุว่า บุหรี่เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาของโลก ส่วนที่องค์การอนามัยโลกบอกให้เก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า เป็นคำแนะนำสำหรับประเทศที่ไม่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจะทำให้ราคาสูงขึ้น เยาวชนเข้าถึงยากขึ้น แต่ประเทศที่ห้ามอย่างไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บภาษี ไม่ต้องเสนอเก็บภาษี การเสนอก็คือต้องการให้ถูกกฎหมาย" รศ.ดร.สุชาดากล่าว


รศ.ดร.สุชาดากล่าวว่า ส่วนที่อ้างว่าประเทศที่เจริญแล้วเปิดให้ซื้อขายได้ อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แต่ความจริงคือหลายประเทศที่ปล่อยซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า เยาวชนสูบเพิ่มขึ้น อย่างสหรัฐอเมริกา ซานฟรานซิสโก เป็นเมืองแรกที่ห้ามแล้ว อนาคตต่อไปจะมีหลายเมืองที่ห้ามเช่นกัน แล้วทำไมไม่ห้ามบุหรี่มวน แล้วรัฐยังเป็นเจ้าของโรงงานยาสูบ ที่บุหรี่มวนซื้อขายได้ เพราะซื้อขายกันมานาน บุหรี่เป็นสินค้าเสพติด จะไปห้ามปุบปับจะเกิดอาการลงแดงหรือไม่ ถือเป็นการยาก แต่สิ่งที่หลายประเทศดำเนินการ องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกเสนอแนะก็คือตั้งเป้าหมายลดอัตราการสูบลง

รศ.ดร.สุชาดากล่าวว่า ส่วนเหตุใดนักการเมือง พรรคการเมือง พยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง คือ 1.การมีข้อมูลข่าวสารไม่สมบูรณ์ โดยหลายคนไปฟังข้อมูลจากฝ่ายบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ฟังฝ่ายสุขภาพ 2.การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) คือการแสวงหาประโยชน์ของบุคคลกลุ่มบุคคลเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อตน ซึ่งบริษัทบุหรี่แห่งหนึ่งมีรายได้ถึง 1.1 ล้านล้านบาท มีงบประมาณมหาศาลในการล็อบบี้ ทั้งนี ไทยเสียค่าโง่มาแล้วกับการปล่อยให้บุกรี่ลดราคา จึงไม่ควรให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายอีก


นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ตามกฎหมายควบคุม 4 ฉบับ คือ 1.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท 4.พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมายตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ที่ผ่านมายังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนมาตลอด จึงอยากขอความร่วมมือให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

“สังคมไทยมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชา ต้องยอมรับว่ากัญชานับเป็นพืชที่สามารถให้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และการใช้งานกัญชาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์คือ ต้องไม่มีการเอาไปใช้ประโยชน์อย่างเสรีของบุคคลทั่วไป แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลับยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ในมิติต่าง ๆ ได้เลย โดยเฉพาะประเด็นการช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดมีการยื่นขออนุญาตและขึ้นทะเบียนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกสูบบุหรี่ ตามที่มีการกล่าวอ้าง จึงขอเน้นย้ำประชาชนทุกคนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่มวน การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในอนาคตได้”นายไพศาล กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น