สธ.เผยหญิงไทย 37% มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แนะ 6 แนวทางกินอาหารเพิ่มธาตุเหล็ก ป้องกันภาวะซีด อีกส่วนเป็นธาลัสซีเมียจากพันธุกรรม ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ อาการมีหลายระดับ ทั้งไม่มีอาการ อาการน้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรง
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 8 พ.ค.ของทุกปีเป็น "วันธาลัสซีเมียโลก" ซึ่งโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ นอกจากนี้ สาเหตุของภาวะซีดที่พบบ่อย คือ กินอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ การมีประจำเดือนออกมากเกินไป พบได้บ่อยในหญิงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ และการตรวจพบหนอนพยาธิในร่างกาย เช่น โรคพยาธิปากขอ เพราะดูดกินเลือดเป็นอาหาร อาการของการขาดธาตุเหล็ก คือ หน้าตาซีดเซียว เยื่อบุตา ริมฝีปาก ฝ่ามือ และเล็บซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย โตช้า เรียนรู้ช้า ทั้งนี้ จากข้อมูล Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2566 พบว่า หญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจาง 31.2% หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 - 49 ปี ที่ได้รับการคัดกรองภาวะโลหิตจางขณะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ พบ 37% ซึ่งสมัชชาอนามัยโลกกำหนดเป้าหมาย ลดอัตราภาวะโลหิตจางของหญิงวัยเจริญพันธุ์ลงเหลือ 50% ภายในปี 2573
การป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจาง นอกจากให้ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกแล้ว ยังแนะนำให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ดังนี้ 1.เนื้อสัตว์ เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู 2.เลือด ตับ เครื่องในจากสัตว์ 3.อาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ กุ้ง ปลาทูน่า 4.ไข่แดง กินได้ทุกวัน 5.ผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า ตำลึง ปวยเล้ง บรอกโคลี ควรกินร่วมกับผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น พริกหวาน ส้ม มะละกอ สับปะรด ฝรั่ง สตรอเบอรี ลิ้นจี่ เงาะ จะช่วยดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น และ 6.ไม่ควรกินอาหารพร้อมกับนมวัว นมถั่วเหลือง เพราะแคลเซียมในนมและไฟเตทในนมถั่วเหลืองจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง อย่างไรก็ตาม การกินอาหารเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง หากมีภาวะซีดหรือสงสัยว่าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อย่าปล่อยจนอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ หากจำเป็นต้องกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก ควรกินอย่างต่อเนื่อง และตรวจเลือดติดตามผลตามคำแนะนำ
ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปลูก ทั่วโลกพบผู้ป่วยเด็กกว่า 80 ล้านคน หรือ 6% สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาดหรือดีขึ้นได้ โดยโรคธาลัสซีเมียเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย เนื่องมาจากความผิดปกติของการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลงและหรือผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีลักษณะผิดปกติ แตกง่ายและมีอายุสั้น ก่อให้เกิดอาการซีด เลือดจางเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา ทั้งบิดาและมารดาของผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะมีธาลัสซีเมียแฝง หรือเป็นพาหะของธาลัสซีเมีย ผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียแฝงจะไม่มีอาการของโรค จะเหมือนคนปกติ แต่ถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติสู่ลูกหลาน
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียมีหลายชนิด ความรุนแรงแตกต่างกันมาก ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคขั้นรุนแรงมากจะเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือเมื่อคลอดเพียง 1 - 2 ชั่วโมง แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ส่วนมากจะพบว่าผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ไม่มีอาการเลยหรือมีอาการไม่มาก แต่จะซีดลงเมื่อมีไข้ ไม่สบาย และ 2. อาการรุนแรงปานกลาง - รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะซีด อาจสังเกตหรือตรวจพบตั้งแต่อายุเพียง 6 - 7 เดือนแรก ถ้ารุนแรงมาก จะมีตาเหลือง อ่อนเพลีย เจริญเติบโตไม่สมอายุ ม้ามและตับโต ลักษณะกระดูกใบหน้าเปลี่ยนรูป ที่เรียกว่า “หน้าธาลัสซีเมีย” ในระยะยาวจะมีกระดูกเปราะหักง่าย เจ็บป่วยไม่สบายบ่อย ๆ วิธีดูแลรักษาผู้ป่วยคือ 1.การดูแลทั่วไป ผู้ป่วยต้องมีสุขอนามัยที่ดี สะอาด กินอาหารครบ 5 หมู่ และวิตามินโฟเลตตามแพทย์สั่ง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ฉีดวัคซีนได้ครบถ้วนเหมือนเด็กปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนป้องกันตับอักเสบ, วัคซีนไอพีดี (IPD) หลีกเลี่ยงการกระแทก เพราะกระดูกเปราะอาจหักได้ง่าย 2.รักษาแบบประคับประคอง และ 3. รักษาให้หายขาดโดยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เมื่อมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมกับแพทย์ในการดูแลลูกให้ดีที่สุด ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ แนวทางรักษาโรค ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ร่วมดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มแรก