xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชี้ "หืดกำเริบรุนแรง" เสียชีวิต อาจเกิดจากใช้ยาพ่นบ่อยเกินไปจนดื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์ชี้ 'หืดกำเริบรุนแรง' จนเสียชีวิต อาจเกิดจากการใช้ยาผิดวิธี คือ ใช้บ่อยเกินไป จนดื้อยาและอักเสบเพิ่มขึ้น แนะใช้พ่นควบคุมอาการทุกวัน ป้องกันหอบกำเริบ

จากกรณีการเสียชีวิตของนายธนัท ตันอนุชิตติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การ์ตูนคลับ มีเดีย หรือ พี่นัท การ์ตูนคลับ วัย 38 ปี จากอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน (Acute Asthmatic Attack)

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้โพสต์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวและผู้ใกล้ชิด พร้อมระบุถึงการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคหืด เพื่อเลี่ยงอาการรุนแรง ผ่านทาง Facebook "Asthma Talks by Dr.Ann" ว่า ในฐานะที่เป็นหมอดูแลคนไข้โรคหืดรู้สึกเสียใจมากในทุกครั้งที่ได้ยินข่าวการเสียชีวิตของคนไข้โรคหืด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในการเกิดหืดกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตจากโรคนี้ เกิดจากการใช้ยาขยายหลอดลมที่เป็นยาฉุกเฉินบ่อยอย่างน้อย 3 หลอด/ปี หรือเกือบทุกวัน การใช้ยาฉุกเฉินขยายหลอดลมบ่อยๆ ทำให้ดื้อยาและหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น ดังนั้น การใช้ยาควบคุมที่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ชนิดพ่นสูดทุกวัน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันหืดกำเริบเฉียบพลัน


ส่วนปัจจัยอื่นๆที่เพิ่มความเสี่ยงในการหอบกำเริบ ได้แก่ การที่มีอาการหอบกำเริบรุนแรง (หอบจนต้องมาโรงพยาบาลหรือใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน) หอบกำเริบบ่อยทุกเดือน (กรณีไม่รุนแรง) หรือมีโรคอื่นๆพบร่วมอื่นๆ ใครเป็นโรคหืดอย่าลืมใช้พ่นยาควบคุมอาการทุกวัน เพื่อป้องกันอาการหอบกำเริบ

ทั้งนี้จากข้อมูลจากสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย โดยอ้างอิงข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ล่าสุดในปี 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการของโรคหืด 4,182 รายต่อปี คิดเป็นวันละ 11-12 ราย หรืออัตรา 3.93 ต่อประชากร 1 แสนคน และโรคหืดนับเป็นโรคที่พบเคสที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งโรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมที่มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ พบได้ในทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีภาวะอ้วน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหอบกำเริบในผู้ป่วยโรคหืดมีหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก อากาศชื้นหรือชื้น น้ำหอม น้ำยาหรือสารเคมี ไรฝุ่น ฝุ่นละออง PM 2.5 ฯลฯ ขณะเดียวกันการไม่ได้พ่นยาควบคุมการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทันหรือไม่ถูกวิธี ก็เป็นอีกปัจจัยกระตุ้นความรุนแรงของโรคได้

ดังนั้นผู้ป่วยโรคหืดควรได้รับการรักษาและคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง ทั้งการพ่นยาควบคุมอย่างต่อเนื่อง และเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหอบกำเริบ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดโอกาสการเสียชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคหืดต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น