xs
xsm
sm
md
lg

สูงอายุเสียฟันทั้งปาก 8.7% รณรงค์รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ 2 ปี เพิ่มเข้าถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบผู้สูงอายุเสียฟันทั้งปาก 8.7% กระทบการใช้ชีวิต เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเรื้อรัง เดินหน้ารณรงค์โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติ 2 ปี เพิ่มการเข้าถึง คืนความสุขสูงวัย มีฟันบดเคี้ยวอาหาร

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และพบปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพระดับประเทศปี 2560 พบผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีฟันแท้เฉลี่ย 18 ซี่/คน และเมื่ออายุ 80-85 ปี ลดลงเหลือเพียง 10 ซี่/คน จำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากถึง 8.7% ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย คุณภาพชีวิต และการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากปัญหาสุขภาพช่องปาก และส่งผลต่อการกินอาหาร การพูด การทำความสะอาดฟัน หรืออารมณ์ เช่น การยิ้ม ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่กล้าออกไปพบปะสังสรรค์ และการนอนหลับที่มีคุณภาพในบางราย


“ที่ผ่านมา กรมอนามัย และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดทำโครงการฟันเทียมพระราชทาน ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการใส่ฟันเทียมทดแทนฟันที่ถูกถอน ทำให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ฟันบดเคี้ยว ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันยังมีโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 ก.ค. 2567 ด้วย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุกินอาหารได้ดีขึ้น มีพลังในการยิ้ม เข้าสังคม พูดจาชัดเจนและมีความสุขมากขึ้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว


ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รากฟันเทียมเป็นการต่อยอดจากการใส่ฟันเทียม เนื่องจากพบว่า สูงอายุที่ใช้ฟันปลอมแบบถอดได้ 10% ที่ร่องเหงือกเริ่มหดร่น จนฟันปลอมหลวมและเคี้ยวอาหารไม่ได้ จึงมีการนำนวัตกรรมรากฟันเทียมมาใช้ฝังในกระดูกกราม ซึ่งจะช่วยให้ยึดฟันเทียมได้แน่นมากขึ้น สปสช.บรรจุรากฟันเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เบื้องต้นจะให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีความจำเป็นต้องใช้ฟันเทียมทั้งปาก แต่เหงือกร่นจนไม่สามารถใช้ฟันเทียมได้ก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ลำบากที่สุด ส่วนโครงการฟันเทียม รากฟันเทียม จะมีการรณรงค์ไปอีก 2 ปี คาดว่า จะทำให้มีผู้สูงอายุเข้ารับการฝังรากฟันเทียมมากขึ้น เมื่อเคลียร์ความต้องการรากฟันเทียมในระยะ 2 ปีนี้แล้ว หลังจบโครงการความต้องการรากฟันเทียมและกำลังทันตแพทย์ที่สามารถให้บริการได้จะเข้าสู่ภาวะสมดุล

“ผู้สูงอายุที่มีปัญหาบดเคี้ยว สามารถติดต่อไปยังหน่วยบริการที่มีทันตแพทย์ใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษา หากทันตแพทย์วินิจฉัยเห็นว่าจำเป็นต้องฝังรากฟันเทียมก็จะดำเนินการให้ หรือส่งต่อไปยัง รพ.ที่สามารถทำได้ โดย สปสช.จะสนับสนุนในการจัดซื้อรากฟันเทียมนี้ให้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอกับความต้องการของ รพ.” นพ.จเด็จ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น