ทันตกรรมรักษาปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ 4 ปี สิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการเพิ่ม 6 แสนคน พบมารับการถอนฟันมากที่สุด ตามด้วยขูดหินน้ำลายและอุดฟัน หน่วยบริการต้องให้ผู้ป่วยยืนยันตัวตนและเบิกจ่ายชดเชยตามรายบริการผ่านระบบ
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการติดตามการดำเนินงานด้านบริการทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หนึ่งในนั้นคือ การจ่ายค่าบริการทันตกรรมรักษาไปหน่วยบริการประจำและปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการสาธารณสุข การใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในหน่วยบริการอื่นของผู้รับบริการกรณีที่มีเหตุสมควร (OP Anywhere) ตามนโยบายบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 ซึ่งบริการทันตกรรมรักษาพื้นฐานในะดับปฐมภูมิ เช่น การถอนฟัน อุดฟัน และขูดหินน้ำลาย เป็นต้น
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า หลักเกณฑ์การให้บริการทันตกรรมรักษาระดับปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ จะต้องเป็นผู้ป่วยนอกกรณีที่มีเหตุสมควร เช่น เกิดอาการปวดฟัน ฟันผุ หรือฟันมีหินปูนเกาะ จำเป็นต้องได้รับการรักษาก่อนลุกลาม โดยหน่วยบริการด้านทันตกรรมทุกระดับในระบบหลักประกันฯ สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่มารับบริการได้ทุกคน แต่จะต้องให้ผู้ป่วยพิสูจน์ตัวตนยืนยันการใช้สิทธิโดยใช้บัตรประชาชน เป็นการป้อนข้อมูลรับบริการเข้าสู่ระบบ สปสช. ส่วนการเบิกจ่ายค่าบริการทันตกรรมรักษา สปสช. กำหนดให้เป็นการเบิกจ่ายชดเชยตามรายการบริการ (Fee Schedule) โดยหน่วยบริการในระบบหลักประกันฯ สามารถบันทึกข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายค่าบริการผ่านระบบ e-Claim อัตราค่าบริการทันตกรรมรักษาเป็นไปตามประกาศ สปสช. ว่าด้วยการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีการจ่ายตามรายการบริการ พ.ศ.2566
"การรับบริการทันตกรรมรักษาของสิทธิบัตรทองมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 มีผู้เข้ารับบริการ 3,967,279 คน ปี 2560 เพิ่มเป็น 4,304,620 คน ปี 2561 เพิ่มเป็น 4,377,469 คน และปี 2562 เพิ่มเป็น 4,491,321 คน โดย 5 อันดับแรกของการเข้ารับบริการทันตกรรมรักษาที่มากที่สุด คือ บริการถอนฟัน บริการขูดหินน้ำลายทั้งปาก บริการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันด้านเดียว บริการเอกซเรย์ฟัน และทันตกรรมดิจิทัล สะท้อนถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นของประชาชนในการไปรับบริการทันตกรรมรักษาปฐมภูมิที่ไหนก็ได้สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมรักษาที่จำเป็นได้ แม้ว่าโรคฟันผุหรือปวดฟัน จะดูเหมือนเป็นเพียงภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่หากไม่รับการรักษาก็อาจลุกลามและส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้" ทพ.อรรถพรกล่าว