วันนี้ ( 3 พ.ค. 2566 ) ที่ Thai Health Academy อาคาร SM Tower นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดแถลงข่าวโครงการ “Mindset Maker Hackathon 2023” ว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะคนไทยทุกช่วงวัย จากข้อมูลประเมินสุขภาพจิตคนไทยตลอดปี 2564 พบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง 14.5% เสี่ยงซึมเศร้า 16.8% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 9.5% มีสัดส่วนสูงมากในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียนอายุไม่ถึง 20 ปี และ 20-29 ปี ส่วนใหญ่กังวลเรื่องครอบครัว การเรียนและอนาคตของตนเอง ด้านปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ คือ ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน พบปัญหาความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลสูง ขณะที่สถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ภูมิอากาศที่แปรปรวน ภาวะเศรษฐกิจ สังคม ผลกระทบจากโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตประชาชน โดยเฉพาะบุคคลที่ขาดการฝึกฝนทักษะทางด้านสุขภาพจิต (Mental health Skills) ทำให้ต้องพึ่งพิงผู้เชี่ยวชาญในการเยียวรักษา แต่ปัจจุบัน จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือ
“ปัจจัยสำคัญที่บุคคลจะสามารถฟื้นพลังใจได้ คือ การฝึกฝนทักษะด้านสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ โดยหนึ่งในองค์ความรู้ทางจิตวิทยาที่สามารถช่วยส่งเสริมทักษะสุขภาพจิตได้และมีงานวิจัยรองรับจำนวนมากจากทั่วโลก คือ ศาสตร์ด้านจิตวิทยาเชิงบวก ประกอบด้วยทุน 4 ด้าน 1.ความหวัง (Hope) 2.การเชื่อในความสามารถของตัวเอง (Efficacy) 3.ความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) 4.การมองโลกในแง่ดี (Optimisim) สสส. สานพลังกับ Mindset maker ใช้หลักคิดทางทุนจิตวิทยาเชิงบวก พัฒนาเครื่องมืออย่างง่ายให้บุคคลแต่ละช่วงวัย สามารถฝึกฝนตัวเอง และออกแบบให้อยู่ในแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย นำไปใช้งานและฝึกฝน ออกกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะกายใจที่ดี” นายชาติวุฒิ กล่าว
นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้จัดการโครงการ และผู้บริหาร Mindset Maker กล่าวว่า Mindset Maker และ Life Education (Thailand) ในฐานะองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มจิตวิทยาเชิงบวกสำหรับประชาชน มุ่งพัฒนาชุดเครื่องมือผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถส่งถึงทุกคน กลุ่มเป้าหมายหลักคือนักศึกษา คนทำงาน ครอบครัว และผู้สูงอายุ รวมถึงเครือข่ายคนทำงานด้านสุขภาพจิต โดยสามารถประเมินตนเอง และ “เลือก” วิธีการ เครื่องมือที่เหมาะกับตัวเอง ใส่ปฏิทินเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาสุขภาพจิตที่ทำได้เองและใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก ที่สามารถเรียนรู้เพื่อใช้กับตัวเอง และคนรอบข้างได้ในเบื้องต้น ตั้งเป้าว่าจะมีเครื่องมือมากกว่า 60 เครื่องมือพร้อมใช้อยู่บนแพลตฟอร์มภายในปีนี้ และพัฒนาต่อยอดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
“สำหรับกิจกรรม Mindset Maker Hackathon 2023 ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเชื่อมโยงเครือข่าย และไอเดียที่หลากหลายเพื่อต่อยอดร่วมกันพัฒนาชุดเครื่องมือจิตวิทยาเชิงบวก โดยหัวข้อที่ชวนให้ทุกคนมาร่วมระดมสมองคิดค้นไอเดียและนวัตกรรมใหม่ 6 หัวข้อ 1. อารมณ์ดี พัฒนาเครื่องมือที่สามารถช่วยฝึกทักษะอารมณ์เชิงบวกของตนเอง เพิ่มพลังงานที่ดีในการดำเนินชีวิตประจำวัน 2.จิตใจแข็งแรงดี พัฒนาเครื่องมือฝึกจัดการกับความคิดของตัวเอง 3.ความสัมพันธ์ดี พัฒนากิจกรรม และการสนทนาในชีวิตประจำวันที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก 4.รู้จักตัวเองดี พัฒนาเครื่องมือ กิจกรรมฝึกสะท้อนความคิดและสร้างความหมายต่อประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เจอในชีวิต 5.สำเร็จดี พัฒนาเครื่องมือสำรวจความก้าวหน้า ความเติบโต และความงอกงามของตนเอง 6.หลับดี พัฒนากิจกรรม เครื่องมือ การจัดสภาพแวดล้อมให้มีสุขภาพกายที่ดีขึ้น เริ่มจากการนอนหลับให้เพียงพอ หลังจาก Hackathon แล้ว Mindset Maker จะร่วมกันพัฒนาชุดการสื่อสารรูปแบบอื่น ทั้งคลิปสำหรับการสื่อสารผ่าน Social Media และ Animation ต่าง ๆ ที่จะทยอยเปิดตัวตลอดปีนี้” และสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทางwww.facebook.com/themindsetmaker นายอรุณฉัตร กล่าว