ความพยายามในการจัดการขยะ โดยการรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางถือเป็นแนวคิดที่ถูกนำไปปฏิบัติจริงมาแล้วเกือบ 10 ปีในพื้นที่ขนาดเล็กติดชายฝั่งใน “หมู่บ้านมดตะนอย หมู่ 3 และบ้านเกาะมุกด์ หมู่ 2 สองพื้นที่จาก ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง
นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำทีมคณะกรรมการกำกับทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สสส. สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิอันดามัน อสม. และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อสำรวจ ศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการขยะพลาสติกภายในชุมชนและทะเล ณ บ้านมดตะนอยและบ้านเกาะมุกด์ ภายใต้ “โครงการลดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกในทะเล”
รวมพลังชุมชน ปั้นพื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการขยะ
“วันนี้ สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายมาเยี่ยมชมการทำงานที่เรียกว่า การทำงานจากชุมชน ซึ่งเป็นวิธีการทำงานเพื่อลดการเกิดขยะพลาสติกและขยะทะเล ที่สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นไมโครพลาสติก (Microplastics)”
“หากย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นงานวิจัยจากข่าวว่า ปลาทู 1 ตัว มีไมโครพลาสติกมากถึง 78 ชิ้น ซึ่งไมโครพลาสติกก็คือพลาสติกชิ้นเล็กมากที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตรเท่านั้น เพราะฉะนั้นแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู ปลา ก็สามารถกินเข้าไปได้ และสุดท้ายผู้บริโภคอย่างเราก็กลายเป็นว่า กินพลาสติกเข้าไปด้วย ซึ่งผมคิดว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ถือว่าตอบโจทย์ชัดเจนเรื่องประเด็นสุขภาวะ”
โดย นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ให้ข้อมูลว่า สสส. ได้เข้ามาร่วมสนับสนุน “โครงการลดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกในทะเล” ไม่เพียงเพื่อเป็นการสร้างกระบวนการการเรียนรู้การจัดการขยะในครัวเรือนตั้งแต่ต้นทางเท่านั้น แต่รวมถึงการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือแปลงให้เป็นรายได้เข้าครัวเรือน โดยโครงการนี้มีการดำเนินงานครอบคลุม 3 จังหวัดทั้ง จ.ตรัง สตูล และกระบี่ ซึ่งปัจจุบันมี 10 ตำบลต้นแบบที่เข้าร่วม
“เราเรียกบ้านมดตะนอยว่าเป็นพื้นที่ขยะน้ำขึ้น-น้ำลง คือเมื่อน้ำขึ้นก็จะพาขยะเข้ามากองภายในพื้นที่ ซึ่งกว่า 90% เป็นขยะที่เกิดจากฝีมือชุมชน เพราะฉะนั้นชุมชนที่อยู่รอบชายฝั่ง หรือชุมชนชาวประมง เมื่อทิ้งขยะลงไป ต้องบอกว่า สุดท้ายแล้วมันไม่ได้ไปไหนไกลเลย”
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความน่าสนใจของ “บ้านมดตะนอย” คือมีวิธีการจัดการขยะในแบบเฉพาะตัว เนื่องด้วยมีพื้นที่ติดชายฝั่ง แต่ด้วยความร่วมมือและเปิดใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนในชุมชน ส่งผลให้การขับเคลื่อนชุมชนปลอดพลาสติกดำเนินงานมากว่า 7-8 ปี
ทั้งนี้ จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทิศทางต่อไปของโครงการ สสส. มองไปถึงการขยายผลในเชิงพื้นที่ ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้โฟกัสที่ความสำเร็จ แต่พุ่งเป้าไปคำถามที่ว่า เมื่อสำเร็จแล้วจะขยายผลไปยังพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการทิ้งขยะอย่างไรมากกว่า
“เรามองถึงการขยายผลไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณเกาะ ซึ่งมีความท้าทายมากกว่า การทำให้ทุกคนเชื่อว่า เขาแก้ปัญหาได้ หรือการที่เขาจะต้องทำงานเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องที่ยากและต้องพูดคุยกันอีกพอสมควร อีกทั้งการเตรียมพื้นที่ การทำความเข้าใจกับภาคนโยบายในระดับพื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ”
เมื่อมองถึงทางออกของการแก้ปัญหาขยะแบบยั่งยืน นายชาติวุฒิ ให้คำตอบในคำถามนี้ว่า “จุดสำคัญคือชุมชนร่วมใจ” หากชุมชนรู้สึกว่า เขาเป็นเจ้าของปัญหา และเห็นความชัดเจนในเชิงประโยชน์ที่ชุมชนจับต้องได้อย่างจำนวนขยะที่ลดลงก็เป็นสิ่งที่จะทำให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ถอดแบบความสำเร็จ “บ้านมดตะนอย”
สำหรับ “บ้านมดตะนอย” เป็น 1 ใน 8 หมู่บ้านของ ต.เกาะลิบง โดยเริ่มการจัดการขยะอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 นำโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ที่ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น นำร่องใช้แนวทางเรื่องสุขภาวะ อาทิ ไข้เลือดออก มะเร็งเต้านม เชื่อมโยงกับปัญหาขยะพลาสติกและกล่องโฟม ผ่านกิจกรรมและข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้ชุมชนปลอดขยะ-ปลอดโรค จนสามารถกลายเป็นหนึ่งใน “หมู่บ้านปลอดโฟม 100%” พร้อมตั้งเป้าเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การจัดการขยะแบบครบวงจร
“ก่อนที่จะแก้ต้องรู้ก่อนว่า ขยะมาจากไหน” นายณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านบ้านมดตะนอย หมู่ 3 เปิดประเด็นในที่ประชุม
ซึ่งจากกรณีของบ้านมดตะนอย จากการวิเคราะห์และสำรวจพบปัญหาขยะมาจาก 4 ข้อหลัก คือ 1. ลอยมากับน้ำ เนื่องจากชุมชนติดทะเลและมีการทิ้งขยะลงแม่น้ำ 2.ไม่มีการคัดแยกขยะ 3. ทิ้งขยะไม่เป็นที่ เนื่องจากว่า ขาดจิตสำนึกในการจัดการขยะ รวมทั้งขาดการปลูกฝังการทิ้งขยะในเด็ก และสุดท้าย 4. ไม่เห็นความสำคัญของการเก็บขยะ โดยมองว่า ไม่ใช่หน้าที่ของตน ไม่รู้ทำไปทำไม และมองเห็นขยะข้างบ้านเรื่องเป็นปกติด้วยความคุ้นชิน
“เราเริ่มต้นจากทำเวทีประชาคมเพื่อร่วมหาทางออกเรื่องการจัดการขยะ ก่อนที่จะแบ่งคณะทำงานเป็นสัดส่วน โดยชุมชนบ้านมดตะนอยแบ่งเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนปะการัง โซนหอยชักตีน โซนดุหยง และโซนแมงกระพรุน ซึ่งเรามีคณะทำงาน 40 คน โดยแบ่งแกนนำเข้าไปแก้ไขแต่ละโซน ซึ่งเมื่อมีปัญหาก็ต้องเอาเข้าที่ประชุมของชุมชนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร” ผู้ใหญ่บ้านบ้านมดตะนอย กล่าว
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านมดตะนอยเลือกใช้ “ข้อตกลงเรื่องการจัดการปัญหาขยะ” ที่หารือร่วมกันและยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานได้เป็นอย่างดี โดยแบ่งเป็น
•ทุกครัวเรือนมีการทำความสะอาดบ้านตนเองทุกวันศุกร์
•ร่วมรณรงค์การจัดการขยะในชุมชน เดือนละ 1 ครั้ง
•ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ
•ทุกครัวเรือนมีการปลูกผักกินเองอย่างน้อย 5 ชนิด
•ลดการใช้ภาชนะประเภทพลาสติกและกล่องโฟม
•และสำหรับบ้านที่มีน้ำ ต้องใส่ปลากินลูกน้ำ 1 ตัว
“ปัจจุบันเราก็ทำเรื่องขยะอยู่ แต่ผมคิดว่า เรื่องขยะมันต้องใช้เวลาทำต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องส่งต่อจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดให้กับเด็ก ๆ ต่อไปในอนาคตด้วย”
ไม่เพียงเท่านั้น ชุมชนบ้านมดตะนอยยังต่อยอดไปสู่กิจกรรมที่น่าสนใจด้านอื่น ๆ ร่วมด้วยทั้งตลาดนัดรีไซเคิล ตลาดนัดสุขภาวะ การปลูกผักสวนครัวในพื้นที่สาธารณะเพื่อลดพื้นที่การทิ้งขยะ การประยุกต์ใช้อวนเก่าเปลี่ยนเป็นถุงใส่ขยะ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดขยะตามมาตรการชุมชน รวมทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอีกด้วย
เรียกได้ว่า การจัดการขยะของบ้านมดตะนอยมาถึงจุดที่ “คนจัดการขยะมีมากกว่าคนทิ้งขยะ” ซึ่งส่วนสำคัญมาจากกการปรับเปลี่ยนวิธีคิด เริ่มจากการดำเนินงานในจุดเล็ก ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นกระบวนการการเรียนรู้ รับรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในที่สุด
ปลดล็อคภาพจำเรื่องขยะบนเกาะมุกด์
“บ้านเกาะมุกด์เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนตั้งอยู่บนเกาะ แต่ในขณะเดียวกันมีปริมาณขยะเยอะ และมีการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมเท่าที่ควร จนเป็นต้นเหตุให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามารู้สึกว่า ทำไมเกาะมุกด์ถึงไม่สะอาด จนมีการถ่ายภาพแชร์ลงโซเชียลและนั่นก็ทำให้เกาะมุกด์เป็นที่พูดถึงอย่างมาก”
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นางสาวมณีวรรณ สันหลี กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอันดามัน หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่เข้ามาดูแล เล่าว่า ในขณะนั้นมีหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมดูแลพื้นที่ในเรื่องการจัดการขยะ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขยะส่วนใหญ่มาจากชุมชน และบางส่วนมาจากนักท่องเที่ยว
“ปัญหาหลัก ๆ ของการจัดการขยะที่บ้านเกาะมุกด์คือการคัดแยกขยะ ยกตัวอย่างผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจ โรงแรม รีสอร์ท เขาก็จะมีการจัดการขยะในแบบของตนเอง แต่ว่าขยะบางประเภทอย่างขยะอินทรีย์ก็ยังมีการทิ้งปะปนกันมาเหมือนเดิม เรียกได้ว่า การจัดการขยะของบ้านเกาะมุกด์ในเวลานั้นถือว่ายากมาก”
นางสาวมณีวรรณ เล่าถึงบทบาทหน้าที่ในขณะนั้นไว้ว่า มูลนิธิอันดามันใช้โครงการ สสส. เข้าไปสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการปัญหาขยะให้ดีมากขึ้น รวมทั้งเข้าไปสร้างกลไกคณะกรรมการอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์เรื่องปัญหาขยะอยู่เสมอ
“หลังจากนั้นในปี 2562 ชาวบ้านบ้านเกาะมุกด์เริ่มตั้งกลุ่มเพื่อรวบรวมรับซื้อวัสดุรีไซเคิล อาทิ ขวดน้ำพลาสติก ขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ รวมทั้งเครื่องมือประมง โดยมีการซื้อ-ขายเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งการรับซื้อแต่ละครั้งก็ได้มากกว่าครั้งละ 1-2 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการนำขยะพลาสติกออกจากพื้นที่ได้เยอะพอสมควร”
“จริง ๆ มูลค่าที่ได้มันน้อยมากเมื่อเทียบกับการต้องไปตากแดด และต่อสู้กับพายุคลื่น แต่เขาก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการเอาขยะเหล่านั้นออกไปจากเกาะ เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษในทะเล”
“สุดท้ายนี้ก็อยากฝากถึงนักท่องเที่ยว ซึ่งคิดว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงตระหนักเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและความสะอาดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากจะรณรงค์ก็คือ อยากให้ทุกคนพกขวดน้ำที่ใช้ซ้ำได้และถุงผ้าติดตัวเสมอ ซึ่งมันไม่ได้ช่วยแต่การลดขยะ แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย”
“รวมทั้งแนะนำให้เลือกการท่องเที่ยวทางเลือกหรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่า อย่างกลุ่มบนเกาะมุกด์ก็จะมีกลุ่มดาวเลที่เขาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ซึ่งประเด็นนี้ก็อาจจะเป็นตัวอย่างให้กับการท่องเที่ยวกระแสหลักอื่น ๆ ได้ด้วย เพื่อต่อยอดสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป” กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอันดามัน เอ่ยทิ้งท้าย