xs
xsm
sm
md
lg

อย.ยันไม่เคยพบ "ไซยาไนด์" ผสมยา อาหาร เครื่องสำอาง ย้ำห้ามนำเข้า ครอบครอง ใส่ผลิตภัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อย.แจงหลัง "บิ๊กโจ๊ก" ประสานตรวจสอบแหล่งที่มา "ไซยาไนด์" คดี "แอม" อยู่ในการควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วน อย.ดูอาหาร ยา เครื่องสำอาง ห้ามนำเข้า ครอครอง ผสมไซยาไนด์ เผยตรวจสอบตลอด ยังไม่เคยพบ

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประสานตรวจสอบแหล่งที่มาของสารไซยาไนด์ที่ถูกใช้ในคดีแอมไซยาไนด์ที่ก่อเหตุฆาตกรรมอย่างต่อเนื่อง ว่า สารไซยาไนด์เป็นวัตถุอันตรายใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มีหลายหน่วยงานร่วมกันควบคุมดูแล ในส่วนการควบคุมของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เวลานำเข้าหรือ ผลิต ครอบครอง ต้องขออนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก พลาสติก และเหมืองทอง แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย อย. ที่ดูแลผลิตภัณฑ์ อาหาร ยาและเครื่องสำอาง จึงได้จัดสารไซยาไนด์ ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง และห้ามนำมาผสมใส่อาหาร ยา และเครื่องสำอาง หากพบผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อย.มีการสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง ในการกำกับดูแลของ อย. เป็นประจำ ซึ่งยังไม่พบสารไซยาไนด์

"ที่ผ่านมา อย. มีการอนุญาตขึ้นทะเบียนให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต ในบัญชียาหลักเพื่อใช้เป็นยาแก้พิษของสารไซยาไนด์ โดยยาชนิดนี้จะอยู่ตาม รพ.ทั่วไป เป็นการใช้ในรูปแบบการฉีด โดยสภากาชาดไทยเป็นผู้ผลิต" นพ.ไพศาลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น