xs
xsm
sm
md
lg

กรมสุขภาพจิต แจง ตร.ขอข้อมูล "แอมไซยาไนด์" แล้ว ห่วงคนกลัวถูกวางยา แนะรับข่าวแต่พอดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิต เผยตำรวจมาขอข้อมูล "แอมไซยาไนด์" กับสถาบันกัลยาณ์ฯ แล้ว ให้ ตร.เป็นฝ่ายเปิดเผย เตือนรับสื่อพอดี ห่วงหลายคนรับข้อมูลมากจนกังวล กลัวถูกวางยา แนะสื่อระวังการวนข้อมูล นำเสนอรายละเอียดผู้ก่อเหตุจนเป็นต้นแบบ

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดี “แอมไซยาไนด์” ที่ตกเป็นผู้ต้องหาวางยาพิษเหยื่อ ซึ่งมีการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยมีประวัติการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปที่สถาบันฯ เพื่อรับทราบในรายละเอียดแล้ว จึงขอให้การเปิดเผยข้อมูลเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของตำรวจ สถาบันฯ ยืนยันว่า หากข้อมูลใดที่เป็นประโยชน์ในความปลอดภัยของสังคมก็พร้อมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ขอย้ำว่าข้อมูลของผู้ป่วยถือเป็นความลับระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ผู้ให้การรักษา ตามม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 การเปิดเผยขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้ป่วย รวมถึงอำนาจศาล แต่ รพ.ไม่สามารถนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้

เมื่อถามถึงผลกระทบทางสุขภาพจิต จากข่าวที่ทำให้คนในสังคมเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน พญ.อัมพร กล่าวว่า ข่าวที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความไม่น่าไว้วางใจ การละเมิดเอาชีวิตกันอย่างน่าตกใจ เป็นกรณีที่ไม่ได้พบเห็นบ่อยนัก การบอกเล่าจากผู้เสียหายจำนวนมากสร้างความตระหนก และดึงดูดความสนใจสูงมาก ทำให้สื่อมวลชนและประชาชนจับตามอง ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด การขุดคุ้ยข้อมูลออกมาเผยแพร่อย่างละเอียด ผ่านรูปแบบการนำเสนอในสังคมที่ไม่ใช่เฉพาะสื่อมวลชน แต่ประชาชนเองก็สามารถส่งข้อมูลถึงกันได้รวดเร็ว ซึ่งความแรงของปัญหากับข้อมูลที่ท่วมท้น ถูกหมุนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก

"หลายคนยอมรับว่าหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง แต่รับรู้เรื่องไซยาไนด์มากกว่า 24 ครั้ง ความถี่ของการรับรู้สูงมาก ทำให้หลายคนดึงเรื่องนี้มาในวิถีชีวิตตัวเอง เปรียบเทียบกับตัวเอง จนกระทั่งเกิดความหวาดกลัว กังวลว่าตัวเองอาจเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเหยื่อของเรื่องแบบนี้ได้ ฟังเยอะจนรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะโดนหรือไม่ ฉะนั้น การติดตามข่าวเรื่องนี้จึงต้องมีขอบเขตเพื่อให้เรารู้เท่าทันให้เกิดความระวังอย่างพอเหมาะ ก็จะส่งผลดีในการใช้สื่อมากกว่าผลเสีย” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวว่า สื่อมวลชนควรระวังรูปแบบการวนของข้อมูลที่สีสันเยอะ เพราะยิ่งเกิดแรงดึงดูดด้านลบ ก่อเป็นปัญหาได้ โดยเฉพาะการที่สื่อแกะรอยและนำรายละเอียดชีวิตของผู้ก่อเหตุมานำเสนอเป็นอีกเรื่องต้องพึงระวัง เพราะหากเราเก็บรายละเอียดต่างๆ ออกมานำเสนอ อาจทำให้หลายคนเข้าใจบิดเบี้ยวไป อาจมองว่าเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบ เป็นการชี้นำผู้ที่เปราะบาง ความโลภให้เกิดการทำตามได้ ไม่เกิดผลดีกับใคร ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้าผู้ก่อเหตุลงมือเช่นนั้นจริง ในแต่ละครั้งที่ก่อเหตุก็ต้องเกิดความเครียดสูงไม่ใช่น้อย คงไม่ได้รู้สึกสบายๆ แต่ไม่ว่าจะรู้สึกเช่นไร ก็ไม่ควรกระทำ

"กรมสุขภาพจิตได้ติดตามอารมณ์ของสังคมในแต่ละช่วงมาตลอด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดแรงกระแทกเยอะ ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่วงที่จะต้องติดตามและนำมาประมวลผลความเครียดของสังคม คาดว่าในอีก 3-4 สัปดาห์จะเห็นอุณหภูมิสังคมที่ชัดเจนขึ้น" พญ.อัมพรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น