กสศ. - สอศ. จับมือ 11 สถานศึกษา ‘ปฏิรูประบบเรียนรู้เพื่อมีงานทำตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (คนพิการ)’ ด้วยสวัสดิการ หลักสูตร ระบบดูแลช่วยเหลือ และเครือข่ายสนับสนุน ชูบทบาทภาคเอกชนให้โอกาสทำงานอย่างสมศักดิ์ศรี ให้ความมั่นใจครอบครัวสนับสนุนลูกหลานยืนหยัดพึ่งพาตนเองอย่างภาคภูมิใจ
วันนี้ (29 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ (Seapine Recreation Centre) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษารุ่นที่ 2 โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 123 คน จากสถานศึกษา 10 แห่ง จาก 7 จังหวัด ได้แก่
1) วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จ.นครปฐม สาขาคอมพิวเตอร์กราฟฟิก สาขาไฟฟ้ากำลัง , 2) วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กรุงเทพมหานคร สาขางานการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ , 3) วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล , 4) วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล , 5) วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ จ.สุรินทร์ สาขาช่างเทคนิคการผลิต สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัลสาขาอาหารและโภชนาการ
6) วิทยาลัยเทคนิคบางแสน จ.ชลบุรี สาขาการจัดการสำนักงาน , 7) วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย จ.หนองคาย สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล , 8) วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร สาขาธุรกิจค้าปลีก สาขาวิจิตรศิลป์ , 9) วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี จ.อุดรธานี สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล สาขาดิจิทัลกราฟิก และ 10) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ สาขาดิจิทัลกราฟิก สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล สาขาอาหารและโภชนาการ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส เป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยเชิงระบบด้านการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำร่วมกับสถานศึกษาสายอาชีพทั้งหมด 11 แห่งมาแล้ว 4 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษา 4 รุ่น รวม 439 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 185 คน
ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า จากรายงานข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.66 ระบุว่า ประเทศไทยมีคนพิการจำนวน 2,180,178 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 63.87 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา เท่านั้น โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ จึงมุ่งพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ความบกพร่องทางด้านร่างกาย ความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ความบกพร่องทางการเรียนรู้และมีภาวะออทิซึม ความบกพร่องทางการมองเห็น ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ความบกพร่องทางพฤติกรรม ด้วยแนวคิดและเป้าหมาย เปลี่ยนความพิเศษ เป็น พลัง สามารถจบการศึกษา พึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตอย่างอิสระ เป็นสมาชิกของสังคมอย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยการพัฒนาตัวแบบระบบการศึกษาเพื่อการมีงานทำที่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า กสศ. ก่อตั้งมาด้วยภารกิจ 2 เรื่อง คือ การลดความเหลื่อมล้ำและการปฏิรูปการศึกษา โดยเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคกัน จึงเป็นตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียในระบบการศึกษา ด้วยการเปล่งเสียง เปล่งแสง เปล่งโอกาส สร้างระบบหลักสูตรการเรียนรู้ ระบบเครือข่าย เพื่อให้การศึกษาได้ทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็มองว่าครอบครัวต้องมีชุดความคิดเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนก้าวผ่านความกลัวด้วยความมั่นใจว่าปัจจุบันนี้ มีลู่ทางการศึกษามากมายที่ตอบโจทย์ของแต่ละคน
“กสศ. และ สอศ. จะร่วมทำงานเพื่อให้เกิดเส้นทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่มีคุณภาพ และมีทางเลือกหลากหลาย และทำงานร่วมกับภาคเอกชน สถานประกอบ เพื่อเปิดประตูรับเยาวชนกลุ่มนี้เข้าทำงานอย่างสมศักดิ์ศรี รัฐบาลมีนโยบายสารพัดเรื่อง แต่ไม่มีพรรคไหนที่พูดเรื่องผู้มีความต้องการพิเศษ ซึ่งแปลกมาก เรากำลังถูกรัฐมองข้ามความสำคัญรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า วันนี้ต้องประสานเสียง ประสานใจ ส่งเสียงดังๆ เพราะผู้มีความต้องการพิเศษเหล่านี้มีตัวตน เป็นทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพของประเทศได้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะวิจัยโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สําหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กสศ. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นงานวิจัยเชิงระบบเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ระบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่มีความแตกต่างกัน 2.ระบบการเตรียมความพร้อมของนักศึกษา 3.ระบบการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาทุกมิติ 4.ระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษา 5.บทบาทและการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ
“ปัจจัยสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ คือ Transition to work หรือกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การมีงานทำ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมสนับสนุนในลักษณะของเครือข่ายความร่วมมือหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ครอบครัว สถานศึกษา สถานประกอบการ ชุมชน เพื่อให้ได้งานตรงตามสาขาที่เรียน ได้ใช้ศักยภาพที่แท้จริงทำงานและสามารถยืนหยัดพึ่งพาตนเองได้อย่างสมศักดิ์ศรี และภาคภูมิใจ” ผศ.ดร.ชนิศา กล่าว
ปัจจุบัน กสศ. มีความร่วมมือกับสถานประกอบการ ภาคเอกชน เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ เช่น โครงการ Café Amazon for Change บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) บริษัท สยามมิชลิน จำกัด
ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า ทัศนคติครอบครัวที่มีลูกหลานเป็นเด็กพิเศษ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเส้นทางชีวิตด้านการศึกษาและการทำงาน โดยส่วนใหญ่มีทัศนคติว่าบุตรหลานของตนเองใช้ชีวิตในสังคม เรียนหนังสือไม่ได้ ส่งผลให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจ การให้ความรู้แก่ครอบครัวและเสริมสร้างทัศนคติที่ดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้ครอบครัวมีความเชื่อมั่นในตัวลูกหลาน และส่งเสริมเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้