xs
xsm
sm
md
lg

“พระอธิการพงศกร คุณากโร” ภิกษุผู้ปวารณาตัว ขอเป็นกระบอกเสียงเผยแผ่ความรู้สิทธิบัตรทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บทบาทของพระภิกษุในสังคมไทย นอกจากการปฏิบัติกิจของสงฆ์แล้ว พระบางรูปก็ยังมีบทบาทเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นผู้นำในการพัฒนา หรือเป็นผู้ให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่คนในชุมชนด้วย หนึ่งในนั้นก็คือพระอธิการพงศกร คุณากโร เจ้าอาวาสวัดแสงสว่าง ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นปวารณาตัวขอเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่คอยให้ความรู้เกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพหรือที่เรียกสั้นๆ ว่าบัตรทอง

ปัจจุบันพระอธิการพงศกร ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์หลักประกันส่งเสริมสุขภาพวิถีพุทธ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 อุดรธานี คอยให้ความรู้เรื่องสิทธิและการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลในระบบบัตรทอง ตลอดจนให้คำแนะนำหรือแม้แต่ประสานงานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีปัญหาการเข้าถึงสิทธิ ให้แก่ทั้งพระและฆราวาสในพื้นที่ อ.บ้านผือ และพื้นที่อื่นๆ ตามแต่โอกาสจะอำนวย

พระอธิการพงศกร เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำเรื่องนี้ ตัวท่านเองไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับระบบบัตรทองมากนัก รู้แบบเดียวกับชาวบ้านทั่วไป คือมีอะไรก็ไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือไปที่สถานพยาบาลที่เราลงทะเบียนเลือกไว้

จุดเปลี่ยนอยู่ที่วันหนึ่งคณะสงฆ์ในจังหวัดนิมนต์ให้ท่านไปเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพกับ สปสช.เขต 8 อุดรธานี เมื่อผ่านการอบรมจนมีความรู้เกี่ยวกับระบบมากขึ้นแล้ว ท่านจึงนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้คนที่ยังไม่รู้ให้ได้รู้มากขึ้น เริ่มจากในแวดวงลูกศิษย์ลูกหา เพื่อนภิกษุ ญาติพี่น้อง และเพื่อนในสมัยที่ยังเป็นฆราวาส เป็นต้น

“ประชาชนส่วนใหญ่จะกังวลในเรื่องของค่ารักษา บางคนก็ไม่ทราบว่าจะรับบริการอย่างไร ส่วนใหญ่ก็จะไปตามคลินิก ไม่ค่อยอยากไปโรงพยาบาล แต่หลังจากให้ความรู้ไปแล้ว ท่านก็มาใช้สิทธิ์รักษาตามโรงพยาบาลมากขึ้น หรือถ้าคนไหนที่ยังไม่เข้าใจก็ให้มาสอบถาม ถ้าตอบไม่ได้ก็จะถามทีมงาน ให้ทีมงานเป็นคนประสานให้”พระอธิการพงศกร กล่าว


ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักๆ จนประชาชนโทรเข้าสายด่วน 1330 จำนวนมาก พระอธิการพงศกรก็เป็นหนึ่งในจิตอาสาที่มาช่วยตอบคำถามแก่ประชาชน ซึ่งการได้เข้ามาเป็นจิตอาสาในครั้งนี้ก็ยิ่งทำให้ท่านมีความรู้ความเข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น

พระอธิการพงศกร กล่าวต่อไปว่า ความรู้เกี่ยวกับระบบบัตรทองจริงๆไม่ใช่เรื่องใหม่ ข้อมูลที่ใกล้ตัว แต่บางทีคนทั่วไปไม่ค่อยรู้ ยกตัวอย่างเช่นในกลุ่มพระ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบในเรื่องสิทธิและรู้สึกกังวลเมื่อต้องไปรับบริการ ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร อย่างล่าสุดมีหลวงตาท่านหนึ่งมาจาก จ.ปทุมธานี อยากได้ฟันปลอม แต่สิทธิ์การรักษายังอยู่ จ.ปทุมธานี ก็ได้แนะนำว่าให้ย้ายสิทธิมาที่ จ.อุดรธานี

“หลวงตาก็ยังกังวลว่าถ้าย้ายสิทธิมาแล้ว เกิดต่อมาท่านไปอยู่ที่อื่นจะทำอย่างไร ก็ให้ความรู้ไปว่าสิทธิบัตรทองสามารถย้ายได้ 4 ครั้ง/ปี ทั้งพระทั้งโยมสามารถใช้สิทธินี้ได้ ใช้แค่เลขประจำตัว 13 หลักก็พอ ก็อธิบายให้ท่านแล้วก็ช่วยดำเนินเรื่องย้ายสิทธิและประสานงานกับ รพ.สต. ให้ด้วย จนขณะนี้หลวงตาได้ฟันปลอมเรียบร้อยแล้ว”พระอธิการพงศกร กล่าว

บางครั้งเมื่อไปปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆ พระอธิการพงศกร ก็มักจะแนะนำเพื่อนภิกษุในการใช้สิทธิบัตรทองอยู่เสมอ เช่น เมื่อทราบว่าเพื่อนภิกษุรูปใดนิยมจาริกไปตามภาคต่างๆ ก็จะแนะนำให้ย้ายสิทธิการรักษาตามไปด้วยทุกที่ เพราะสิทธิบัตรทองย้ายได้ปีละ 4 ครั้งอยู่แล้ว เป็นต้น ข้อมูลพวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐานใกล้ตัวแต่คนก็ยังไม่ทราบกัน ก็ได้ใช้ความรู้ตรงนี้ให้คำแนะนำไป

เช่นเดียวกับในส่วนของฆราวาส พระอธิการพงศกรก็ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเป็นวิทยากรตามเวทีต่างๆ หรือการให้คำแนะนำรายบุคคล

“ล่าสุดเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันก็ถามปัญหา อยากย้ายหน่วยบริการให้ลูกแต่ย้ายไม่ได้ ก็แนะนำให้โทรไป 1330 แต่ถ้าดำเนินเรื่องแล้วไม่ก้าวหน้าอะไรก็จะประสานทีมงานให้อีกครั้ง อีกคนก็ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ให้คำแนะนำช่องทางในการติดต่อขอรับเงินเยียวยา”พระอธิการพงศกร กล่าว

บางเคสก็มีปัญหาในเรื่องถูกเรียกเก็บเงิน พระอธิการพงศกรก็ช่วยให้คำแนะนำได้เหมือนกัน เช่น มีผู้ป่วยรายหนึ่งเส้นเลือดในสมองแตก โรงพยาบาลแรกรักษาไม่ได้ต้องส่งต่อไปอีกโรงพยาบาล แต่รักษาแล้วเกิดกรณีการเก็บเงิน ท่านก็แนะนำว่าอย่าเพิ่งตีโพยตีพาย ให้เก็บใบเสร็จไว้แล้วนำไปยื่นเรื่องที่ สปสช. เขต แล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการสืบข้อเท็จจริงว่าสมควรที่จะได้เงินคืนหรือไม่ภายใน 7-14 วัน พอโยมได้ทราบก็บอกว่าเพิ่งรู้ว่าทำแบบนี้ได้ด้วย

เมื่อดำเนินงานให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิบัตรทองมาถึงจุดนี้ พระอธิการพงศกร ยืนยันต้องเดินหน้าต่อยอดศูนย์หลักประกันส่งเสริมสุขภาพวิถีพุทธต่อไป โดยมองว่าต่อไปอาจจะขยายเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในโรงเรียน เมื่อเด็กๆมีความรู้ก็สามารถส่งต่อให้กับผู้ปกครองได้


กำลังโหลดความคิดเห็น