xs
xsm
sm
md
lg

เกาะลันตา นำร่องจัดการ “ขยะและไมโครพลาสติก” ตัวร้ายทำลายระบบนิเวศ มุ่งยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในแต่ละปีขยะพลาสติกกว่า 12 ล้านตันจะถูกปล่อยทิ้งสู่ท้องทะเลและมหาสมุทร ซึ่งร้อยละ 50 ถูกสำรวจว่ามาจากทวีปเอเชีย โดยประเทศจีนถือเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นตัวเลขอาจจะมากถึงร้อยละ 29 ตามมาด้วยประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักเมื่อชื่อของประเทศไทยเองก็ติดอันดับ 1 ใน 10 เช่นเดียวกัน

โดยประเทศไทยมีการปล่อยขยะลงทะเลกว่า 22.8 ล้านกิโลกรัม และกว่า 45,000 ตันนั้นถูกซุกซ่อนไว้ในสถานที่ที่เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ไม่ต่ำกว่า 2 แสนรายต่อปีอย่าง “เกาะลันตา” จ. กระบี่ นั่นเอง

แน่นอนว่า ขยะเหล่านี้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเล ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออาชีพของคนชายฝั่ง ผู้ประกอบการ ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาของประเทศ และที่สำคัญยังส่งผลให้เกิด “ปัญหาสุขภาวะ” ตามมาอีกด้วย

“โฟมและขยะพลาสติกบนฝั่งที่กำจัดไม่ถูกต้องจำนวนมาก เมื่อไหลลงสู่ทะเลจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ และถูกเรียกว่า “ไมโครพลาสติก” (Microplastics) ซึ่งจะปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารผ่านการบริโภคอาหารทะเล”

“โดยงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ระบุตรงกันว่า ไมโครพลาสติก หรือเศษพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง และปนเปื้อนในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

“อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร รวมถึงสารประกอบของพลาสติกบางตัว ยังส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย”

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลระหว่างการลงนามและประกาศ “ปฏิญญาอ่าวลันตา” ผ่าน 9 หมุดหมายสำคัญ เพื่อพัฒนาและยกระดับ อ.เกาะลันตา สู่การท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นแลนด์มาร์คด้าน Blue & Green Island

โดยการลงนามในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และภาคีเครือข่ายกว่า 48 หน่วยงาน

“ปัญหาขยะพลาสติกหรือไมโครพลาสติกถือเป็นประเด็นสำคัญที่ สสส. ใช้เป็นประเด็นขับเคลื่อนในครั้งนี้ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า มีผู้คนจำนวนมากเจ็บป่วยจากการกินไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นบทบาทของ สสส. เราเห็นถึงการป้องกันไปพร้อม ๆ กับการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ผ่านการให้ความรู้และการลงนามในครั้งนี้” นายชาติวุฒิ กล่าวถึงจุดประสงค์

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. มองว่า การลงนาม “ปฏิญญาอ่าวลันตา” จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่า ปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกเป็นเรื่องใกล้ตัว รวมทั้งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาในมิติอื่น ๆ ด้วย


โดยปฏิญญาอ่าวลันตา จะมีการผลักดัน 9 เจตจำนงและหมุดหมายสำคัญ ดังนี้ 1.การประมงยั่งยืน 2.อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3.พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล 4.การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 5.เชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น 6.ลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล 7.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้พลังงานสะอาด 8.พัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต และ 9. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อคุ้มครองรักษา อ.เกาะลันตาควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม

“งานในวันนี้ทำให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม ซึ่งส่วนใหญ่เราคิดว่า ภาครัฐจะต้องเป็นผู้จัดการนโยบาย เป็นผู้ดำเนินงานขับเคลื่อน แต่ในทางปฏิบัติ จริง ๆ คือทุกคนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเอกชน เพราะฉะนั้นด้วยความตื่นตัวเหล่านี้ เราจึงมาคิดต่อว่า จะทำอย่างไรที่จะใช้โมเดลที่สำเร็จ หรือเรียกได้ว่า สำเร็จนี้ ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติกและไมโครพลาสติก รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ด้วย” นายชาติวุฒิ กล่าว

รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส.
ในทุก ๆ วัน บ่อขยะเกาะลันตา ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ บนพื้นที่ 3.5 ไร่ มีขยะใหม่ถูกนำมาทิ้งกว่า 48 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 1.34 กิโลกรัม/วัน/คน ซึ่งไม่นับรวมกับขยะที่รอการฝังกลบอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถกำจัดได้ทัน จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะโรคทางเดินทางหายใจและการป่วยเรื้อรังในเด็ก

รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวถึงปัญหาระหว่างการลงพื้นที่บ่อขยะเกาะลันตาไว้ว่า ปัญหาที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเมื่อไม่มีการคัดแยกขยะที่ดี การที่จะทำให้ขยะกลับมามีคุณค่าและสามารถรีไซเคิลได้อีกครั้งก็เป็นไปได้ยาก นอกจากนั้นบริเวณบ่อขยะยังเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นระบบการจัดขยะอย่างไม่ยั่งยืนและเป็นอันตราย

“การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง มันจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงาน พอจัดการขยะได้อย่างดีแล้วก็จะมีขยะมาสู่บ่อขยะแบบนี้น้อยลง ซึ่งจะเป็นภาระให้ชุมชนน้อยลงด้วย”


อย่างไรก็ดี สำหรับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกอย่างเป็นระบบและรูปธรรม นอกจากการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมปลอดพลาสติกอย่างยั่งยืน ก็เป็นสิ่งที่ รศ.ดร.สมิทธิ์ ให้ความเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

“เราต้องการที่จะเป็นกลไกลหนึ่งในการนำสิ่งที่ชุมชนทำได้ดีอยู่แล้ว ไปเป็นต้นแบบ หลังจากนั้นนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากต้นแบบนั้นกำหนดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบมากขึ้น ถ้าเกิดว่าเรานำโครงการที่สำเร็จ นำความรู้ที่ได้จากการทำแต่ละโครงการมาแปลงให้เป็นกฎหมายและทำให้ทุกคนในประเทศยอมรับร่วมกันก็จะเป็นภารกิจที่ สสส. สามารถเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จ” รศ.ดร.สมิทธิ์ เสนอความคิดเห็น

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ด้านอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่าง ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นำเสนอว่า แนวคิดการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกต้องสอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐบาลกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565 – 2570) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเกิดขยะ

ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเลือกใช้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลได้ การคัดแยกขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง ให้สอดคล้องกับรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยปลายทาง เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุด ทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material recovery) และพลังงาน (Energy recovery) ให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด เป็นการลดขยะทะเลลงอีกทางหนึ่งด้วย

“เราเชื่อว่าการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวสามารถที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างปัญหามลพิษ น้ำเสียและขยะ ซึ่งการมาร่วมมือลงนามปฏิญญาครั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษก็พร้อมให้คำแนะนำ เพื่อช่วยสนับสนุนจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อลดจำนวนขยะให้ได้มากที่สุด ในส่วนที่ยังมีขยะอยู่ก็จะนำไปรีไซเคิลให้ได้ในประสิทธิภาพดีที่สุด โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและจังหวัดต่อไป”

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคอีกครั้ง ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากเราทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง งดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า และสุขภาพที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลัง



กำลังโหลดความคิดเห็น