สธ.เผยผลตรวจคัดกรองคนไทยกลับจาก “ซูดาน” จากเหตุสู้รบ กลุ่มแรกมาถึง 78 คน ส่วนใหญ่เป็น นพ.พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คัดกรองโรคทางเดินหายใจ พบป่วย 12 ราย เป็นเชื้อไวรัสทั่วไปที่หายเองได้ ไม่พบโรคโควิด 19 และเมอร์ส ส่วนสุขภาพจิต พบอาการนอนไม่หลับ คิดถึงเหตุปะทะ 8 ราย และมีความเครียดสูง 1 ราย หลังสามีไม่ได้มาด้วย
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดูแลช่วยเหลือคนไทยในสาธารณรัฐซูดาน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ว่า รัฐบาลได้อนุมัติให้กองทัพอากาศจัดเครื่องบิน Airbus A340-500 จำนวน 1 ลำ ใช้เวลาเดินทาง 9 ชั่วโมง และเครื่องบิน C-130 จำนวน 2 ลำ ใช้เวลาบิน 17 ชั่วโมง บินตรงไปยังท่าอากาศยาน คิง อับดุลาซิซ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อสนับสนุนการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สู้รบในซูดานและมีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ จำนวน 223 คน โดยคนไทยกลุ่มที่ 1 มากับเที่ยวบิน A340-500 เที่ยวบินแรก จำนวน 78 คน ประกอบด้วย นักเรียนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 71 คน พัทลุง 1 คน นครศรีธรรมราช 1 คน และครอบครัวซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ จ.นนทบุรี 5 คน เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง คืนวันที่ 27 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 22.00 น. ผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองและตรวจคัดกรองโรคก่อนเดินทางไปยังโรงแรมที่พัก
โดยวันที่ 28 เม.ย. ผู้ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคใต้จะเดินทางกลับด้วยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ เพื่อกลับสู่ภูมิลำเนาต่อไป โดยก่อนขึ้นเครื่องกลับประเทศ ผู้อพยพทุกรายจะได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพจากชุดปฏิบัติการ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการดูแลสุขภาพผู้อพยพเมื่อกลับถึงประเทศไทย สธ.ได้จัดทีมกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค 1 ทีม และทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) กรมสุขภาพจิตอีก 1 ทีม ตรวจคัดกรองสุขภาพที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ซึ่งกลุ่มแรกที่เดินทางกลับมาถึง พบผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ 12 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 6 ราย อายุ 23 - 33 ปี มีอาการ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก เก็บตัวอย่างจากทางเดินหายใจตรวจเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ 24 ชนิด รวมโควิด 19 และเมอร์ส ที่สถาบันบำราศนราดูร พบเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจทั่วไป 8 ราย ซึ่งผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและพักผ่อนเพียงพอ สามารถหายป่วยได้เอง
ส่วนการประเมินคัดกรองสุขภาพจิต จำนวน 16 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา อายุ 24 - 26 ปี พบความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต 9 ราย มีอาการนอนไม่หลับ หวนนึกถึงเหตุการณ์ เนื่องจากหอพักอยู่ใกล้จุดปะทะ 8 ราย และหญิงไทย อายุ 45 ปี 1 ราย มีความเครียดสูง เนื่องจากเป็นห่วงสามีชาวซูดานที่ไม่ได้เดินทางมาด้วย โดยเดินทางมากับบุตร 4 คน ซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้ วางแผนส่งต่อให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ติดตามดูแลต่อเนื่องใน 2 สัปดาห์ และได้เตรียมความพร้อมในการตรวจคัดกรองสุขภาพผู้อพยพที่จะเดินทางมาถึงชุดต่อไป