อธิบดีกรมสุขภาพจิต คาดวันนี้ได้ข้อมูลชัดเจน "แอมไซยาไนด์" เคยรักษาสถาบันกัลยาณ์ฯ หรือไม่ ย้ำไม่ใช่ประเด็นชี้ขาด เหตุไม่จำเป็นต้องมีโรครุนแรงก็มารักษาได้ ป่วยจิตเวชทำผิดต้องรับโทษเช่นกัน เจสะพฤติกรรมเข้าข่ายไซโคพาธ ต่อต้านสังคม ไม่ใช่โรคแต่ก่อให้เกิดโรคได้
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นฆาตกรรมต่อเนื่อง หรือคดีแอมไซยาไนด์ ที่มีการตั้งข้อสังเกตเคยเป็นผู้ป่วยในสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ว่า ตนรับทราบว่ามีการรายงานข่าวอ้างว่าเคยรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตนจึงแจ้งไปทางสถาบันฯ ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตามขบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ชื่อเดิมของสถาบันฯ คือ นิติจิตเวช เป็น รพ.แม่ข่ายของกรมสุขภาพจิต ดูแลพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นไปได้ว่าจะมีประชาชนเข้ามารับการรักษา
เมื่อถามย้ำว่าสถาบันฯ ยังไม่ได้ยืนยันว่าผู้ก่อเหตุเคยรักษาในสถาบันฯ พญ.อัมพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันข้อมูล แต่เชื่อว่าจะมีความชัดเจนในวันนี้ แต่การเป็นผู้ป่วยหรือไม่ ก็ไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดอะไร เพราะตนก็เป็นผู้ป่วยของ รพ.ศรีธัญญาเช่นกัน เนื่องจากต้องรับยาบางอย่าง เช่น นอนไม่หลับ ทั้งนี้ ผู้ป่วยในสถาบันฯ ไม่จำเป็นต้องมีโรครุนแรง โรคจิตเภท อาการนอนไม่หลับก็มาเข้ารักษาได้ ข้อมูลพบด้วยว่าผู้ป่วยมากกว่า 50% มีอาการทางใจเล็กๆ น้อยๆ เหมือนคนเป็นไข้ ดังนั้น จะต้องเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกในบุคคล
เมื่อถามว่าหากผู้กระทำผิดอ้างป่วยจิตเวช แล้วจะได้รับโทษน้อยลง พญ.อัมพร กล่าวว่า ไม่จริง เพราะถ้าเกิดความผิด ก็ต้องรับโทษตามขบวนการยุติธรรม เพียงแต่ศาลจะพิจารณาการลงโทษอย่างไร แต่ไม่ได้แปลว่าป่วยแล้วจะลอยนวล
เมื่อถามถึงลักษณะการลงมือของแอมไซยาไนด์ เข้าข่ายฆาตกรต่อเนื่องหรือ ไซโคพาธ (Psychopath) พญ.อัมพร กล่าวว่า ตนได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไปก่อนหน้านี้ แต่น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และขอย้ำว่า แพทย์ไม่สามารถมองใครแล้วบอกว่าเป็นโรคอะไรได้ เพราะผิดจรรยาบรรณของแพทย์ การจะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อมีการซักประวัติ ตรวจสุขภาพแล้ว และย้ำว่าจิตแพทย์ก็จะไม่เอาข้อมูลเหล่านั้น มาถ่ายทอดสู่สาธารณะ
"หากเจาะที่พฤติกรรมตามที่สื่อถ่ายทอดมา ถ้าหากมีการวางยา หวังทรัพย์ โดยไม่คำนึงชีวิตผู้เสียหายนั้น ในมิติของจิตเวชจะเรียกเป็นนิสัย ไม่จัดถึงว่าเป็นโรคสัมพันธ์ เพียงแต่มีลักษณะของบุคคลนั้นๆ เรียกว่า ไซโคแพธ หรือไซโคพาธ แต่ปัจจุบันใช้คำว่า บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial) หมายถึงผู้ที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น และใช้ความปรารถนาของตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น โกรธแล้วทำลายล้าง ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เพื่อระบายความโกรธ หรืออยากได้ทรัพย์สิน อยากได้ความสัมพันธ์ทางเพศ ก็สามารถทำลายชีวิตคนอื่น เพื่อความปรารถนาของตัวเองได้" พญ.อัมพร กล่าว
ถามย้ำว่าไซโคแพธ ไม่ใช่โรคทางจิตเวช พญ.อัมพร กล่าวว่า แม้ว่าจะเป็นบุคลิกภาพที่ไม่ใช่โรค แต่มีผลต่อการเกิดโรคทางจิตเวช เพราะการมีบุคลิกผิดปกติ ปรับตัวยาก ก็ก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชบางอย่าง แล้วไปหนุนให้บุคลิกภาพนั้นให้รุนแรงขึ้น การจะมองว่าเป็นโรคทางจิตเวชหรือเป็นเพียงพฤติกรรม จะต้องดูว่าอารมณ์ที่เป็นปัญญานั้น ทำให้เขาไม่สามารถทำหน้าที่หรือดำเนินชีวิตปกติได้ เช่น ทำงานกับใครไม่ได้ ใช้ชีวิตกับคนอื่นไม่ได้ ไปจนถึงการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย กระทบศีลธรรม หรือใช้สารเสพติด
ถามย้ำว่าฆาตกรรมต่อเนื่องจะมีลักษณะอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า เป็นการก่อเหตุซ้ำ 2 ครั้งขึ้นไป จึงใช้คำว่าฆาตกรรมต่อเนื่องได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดเชิงจิตใจต่างกันไป ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการหวังทรัพย์ ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น การลงมือกระทำในคนบางเชื้อชาติ โดยจะแยกจากโรคจิตเวชได้ยาก