สภาเภสัชฯ พร้อมเอาผิด "เภสัชกร" หากพบเกี่ยวปมฆาตกรรมไซยาไนด์ ย้ำไม่ใช่ยา แต่เป็นสารเคมีอันตรายที่กรมโรงงานฯ กำกับ "อนุทิน" ชี้หาไซยาไนด์ไม่ได้ใช่เรื่องง่าย เชื่อการจัดหามาใช้ผิดกฎหมาย หน่วยงานที่ขออนุญาตครอบครองและใช้ต้องรับผิดชอบ
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. สภาเภสัชกรรม ได้ออกจดหมายเปิดผนึกต่อกรณี "สารพิษไซยาไนด์" ระบุว่า สภาเภสัชกรรมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับผู้เสียชีวิตและครอบครัว และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเร่งหาตัวผู้กระทำผิด รวมทั้งผู้ร่วมกระทำผิดและสนับสนุนการกระทำผิดทุกราย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่าโพแทสเซียมไซยาไนด์ รวมทั้งโซเดียมไซยาไนด์ ไม่ใช่ยา แต่เป็นสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้กำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ปกติจะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม ไม่ได้นำมาใช้ทางยา
ตามที่มีประเด็นข่าวส่วนหนึ่งที่อาจทำให้เข้าใจว่ามี เภสัชกร เข้าไปพัวพันกับคดีนั้น สภาเภสัชกรรม ขอเรียนว่า เภสัชกร เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องยาและสารเคมีเพื่อใช้ในการรักษาและป้องกันโรคเท่านั้น และต้องปฏิบัติภายใต้กรอบจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพที่กำกับดูแลโดยสภาเภสัชกรรมอย่างเคร่งครัด หากการสืบสวน สอบสวน ขยายผลแล้ว พบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมรายใดมีส่วนเกี่ยวพันในการกระทำผิดจริง สภาเภสัชกรรมพร้อมจะพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสภาเภสัชกรรม ตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ อย่างเคร่งครัด
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สัมภาษณฺถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับทราบตามข่าวเหมือนกัน ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะการเข้าถึงไซยาไนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีการใช้ในทางการแพทย์ แต่ใช้ในทางอุตสาหกรรม หาไม่ได้ในร้านขายยาหรือจะนำเข้ามาได้ ก็ต้องเป็นการลักลอบทำผิดกฎหมาย ซึ่งต้องไปป้องกัน ส่วนต้องปรับเพิ่มระดับวัตถุอันตรายหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สธ.ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงเรื่องนำเข้าส่งออกสารอันตราย แต่ สธ.มีหน้าที่ดูแลการขึ้นทะเบียนหรือผู้นำเข้าสารพิษวัตถุอันตรายต้องขออนุญาต ถ้านำเข้าไซยาไนด์เข้ามา สธ.ไม่อนุญาต ยกเว้นเป็นหน่วยงานมีการนำเสนอชัดเจน
"ไซยาไนด์เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ต้องแจ้งการครอบครองใช้งาน ส่วนใหญ่ของพวกนี้เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าต่างประเทศ หลายอย่างตนต้องลงนามเห็นชอบ การเห็นชอบจะมาตามขั้นตอน ต้องเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริง มีการชี้แจงถึงวิธีการป้องกันอันตรายต่างๆ ขั้นตอนเยอะมาก อย่างสารเสพติดที่นำเข้ามาศึกษาวิจัย อย.ก็ต้องผ่านเรื่องมา หน่วยงานที่เอาเข้ามาต้องรับผิดชอบ ปัดความรับผิดชอบไม่พ้น เพราะขอ อย.เพื่อเอามาใช้ในภารกิจงานต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ สธ.อนุมัติให้เข้ามาตามภารกิจ เอาเข้ามาใครแอบเอากลับบ้านก็ต้องเป้นความรับผิดชอบของผู้ขออนุญาต ที่ต้องควบคุมป้องกันและครอบครองด้วยความระมัดระวัง" นายอนุทินกล่าว
ถามว่าหากเผลอโดนไซยาไนด์ต้องทำอย่างไร นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ. กล่าวว่า ต้องรีบขอความช่วยเหลือ 1669 พบแพทย์ ใช้การปฐมพยาบาลพื้นฐานทางเดินหายใจและรีบส่งต่อ เพราะพวกนี้ออกฤทธิ์เรื่องการหยุดหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต เมื่อถึง รพ.ไม่ว่าเข้าทางไหนก็จะล้างท้อง ให้สารละลายน้ำต่างๆ และแอนตี้โดสของมัน ซึ่งถ้าปฐมพยาบาลเบื้องต้นเข้าถึงการรักษารวดเร็ว โอกาสรอดชีวิตก็เพิ่มขึ้น