คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบแผนฉีดวัคซีนโควิดประจำปี เริ่มปี 66 ปีแรก ย้ำฉีดก่อนป้องกันก่อน ไฟเขียวมาตรการสกัด "ไข้เลือดออก" หลังแนวโน้มเพิ่มขึ้น "อนุทิน" คาดอนาคตเป็นไข้หวัดฤดูกาล อาจมีการรวมวัคซีน ส่วนจัดหาวัคซีนประจำปี อาจใช้วัคซีนของ อภ. หลังพบทดลองในมนุษย์มีประสิทธิผลดี
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.แผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในระยะถัดไป เป็นการฉีดประจำปีสำหรับประชาชน จะเริ่มปี 2566 เป็นปีแรก ฉีดปีละ 1 เข็ม แนะนำให้ฉีดช่วงก่อนฤดูฝนคือตั้งแต่ เม.ย.เป็นต้นไป เพราะคาดว่าเชื้อจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน สามารถใช้วัคซีนชนิดใด/รุ่นใดก็ได้ที่ได้รับการรับรอง ไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าไร ซึ่ง สธ.มีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชาชนที่ต้องการเกือบ 20 ล้านโดส ขอให้ประชากรกุกกลุ่มเข้ารับการฉีดโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงรุนแรง คือ 608 เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สัมผัสคนจำนวนมาก ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ส่วนประชาชนที่ต้องลดความเสี่ยงก็มาขอรับได้ตามสมัครใจ ฉีดก่อนป้องกันก่อน เป็นผลดีต่อตัวเอง ลดความเสี่ยงติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต คณะกรรมการด้านวิชาการยืนยันว่า สามารถรับวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้
"ได้ขอให้ สปสช.สนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช.วันที่ 1 พ.ค. คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบ เพราะจริงๆ แล้วการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ฉีดโดยบุคลากรกลุ่มเดียวกัน ค่าฉีดวัคซีนที่เราเก็บจาก สปสช. ถ้า สปสช.ให้ฉีดพร้อมกัน สธ.ก็ยินดีที่จะลดอัตราค่าฉีดวัคซีน เพื่อให้งบประมาณถูกใช้น้อยที่สุด เป็นการประสานงานกัน ไม่ได้เป็นการเพิ่มงบประมาณ แต่ทำให้ประสิทธิภาพเกิดขึ้นสูงสุด ใช้งบประมาณน้อยที่สุด แต่บริการอย่างทั่วถึง หากไม่อยากฉีดพร้อมกันก็ไม่ต้องคำนึงถึงช่วงระยะห่าง" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โควิดของไทยหลังสงกรานต์ แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ เนื่องจากมีการสัญจรไปมา มีการเดินทางเข้าออกประเทศ ทั้งคนไทยและต่างชาติ มีการรวมกลุ่มผู้คนจำนวนมาก แต่ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงเหมือนช่วงที่มีการเข้ามาของโควิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ประชาชนก็ให้ความร่วมมือเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วงนี้ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ไปสถานที่สุ่มเสี่ยงก็สวมหน้ากากอนามัย และเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน ซึ่งทุกคนสามารถมาฉีดได้เลย ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะเริ่มในกลุ่มเสี่ยง แต่ส่วนใหญ่คนที่ไปรับวัคซีนก็เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งก็ตีความได้หมด ทำงานบริการสาธารณะ ภัตตาคาร บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนที่เดินทางสัญจรไปมาท่ามกลางคนมากมาย รวมถึงแรงงานต่างด้าวด้วย
"อีกหน่อยโควิดก็อาจจะเป็นไข้หวัดตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ อนาคตอาจมีการรวมวัคซีนเข้ามา เมื่อประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โควิดก็จะลดความรุนแรงลง ก็จะจำกัดในกลุ่มเสี่ยงเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่เราเน้นดูแลในกลุ่มเสี่ยงอยู่ นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรมแจ้งว่าการทดลองในมนุษย์ 4 พันคนก็ฉีดกลุ่มตัวอย่างครบแล้ว ผลลัพธ์ค่อนข้างตอบรับต่อประสิทธิผลดีมาก จึงแจ้งปลัด สธ. ซึ่งเป็นประธานบอร์ด อภ.คนใหม่ เพื่อประสานงานนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า 2.มาตรการเร่งรัดการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก พ.ศ. 2566 เนื่องจากปีนี้สถานการณ์ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องยกระดับมาตรการเพิ่มความเข้มข้นในการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เร่งรัดผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สื่อสารเชิงรุกไปยังสถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา และประชาชน เพิ่มความเร็วในการตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว รวมทั้งให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมรองรับการรักษาและควบคุมโรคตามแนวทางของกรมควบคุมโรค 3.เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากมีเหตุการณ์ระบาดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงในโรงเรียน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัด สธ.ประสานดำเนินการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถามว่าเมื่อฉีดวัคซีนโควิดเป็นประจำปี ตั้งเป้าไว้จะจัดหาปีละเท่าไร นายอนุทินกล่าวว่า เราตั้งเป้าการจัดหาวัคซีน แต่อีกหน่อยเราอาจเคาะโต๊ะว่าวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมที่ใช้ได้ผลดี ก็จัดหาได้ง่าย นอกจากนั้นอาจจัดหาเพื่อเสริมความมั่นใจในแต่ละปี แต่มั่นใจว่าวันหนึ่งจะเห็นการรวมสายพันธุ์เข้าไปในวัคซีนเข็มเดียว สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดในเอกชน เอกชนจัดหาเองได้ อยู่ที่บริษัทจะขายหรือไม่ ส่วนที่เราจัดวัคซีนไปให้ฟรีกับเอกชน ก็ต้องไม่คิดค่าวัคซีน แต่จะมีการคิดค่าบริการฉีดหรือไม่เราบังคับไม่ได้