xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์พิษฯ จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องคุมเข้ม ครอบครอง-ใช้ “สารไซยาไนด์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ ชี้ “ไซยาไนด์” ออกฤทธิ์เร็ว อันตรายสูง จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องคุมเข้มการครอบครอง การนำไปใช้ป้องกันใช้ทางที่ผิด

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงสารพิษไซยาไนด์ ว่า ไซยาไนด์เป็นสารที่มีอันตรายสูง และออกฤทธิ์เร็ว นอกจากอยู่ในรูปของก๊าซแล้ว จะอยู่ในรูปของสารละลาย เมื่อผู้ป่วยได้รับสารนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการชัก และหมดสติภายในเวลานับเป็นนาที จากนั้นจะเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เกิดอาการชักหรือหมดสติอย่างเฉียบพลันมักจะเกิดจากโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นส่วนใหญ่ เราจะสงสัยว่าเกิดจากภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์ เมื่อมีอาการอย่างที่กล่าวข้างต้น

ดังนั้น โดยเฉพาะหลังจากดื่มหรือรับประทานอะไรบางอย่างในช่วงเวลาสั้นๆไม่กี่นาทีก่อนเกิดอาการ และหากว่าสงสัยภาวะเป็นพิษดังกล่าว ก็ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุดก็สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

สำหรับการรักษาภาวะพิษจากไซยาไนด์ ต้องใช้ยาต้านพิษที่จำเพาะ ในโครงการยาต้านพิษของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสปสช. องค์การเภสัชกรรม อย. กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์พิษวิทยา ได้จัดให้มีการสำรองยาต้านพิษนี้ไว้ใน รพ.ทุกจังหวัด หรือระดับที่สูงกว่านั้นทั่วประเทศ ในกทม. ก็มีสำรองไว้ในโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ และศูนย์พิษวิทยา

สำหรับโรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นแหล่งสำรองยา สามารถร้องขอจากโรงพยาบาลที่มียาได้ โดยสามาถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา


กำลังโหลดความคิดเห็น