เด็กป่วยหัวใจแต่กำเนิดต้องผ่าตัดปีละ 4 พันราย ผ่าตัดซ้ำ 10% ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง สธ.เปิดศูนย์เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ช่วยลดเสียชีวิต ทำได้ในเด็กน้ำหนัก 30 กก.ขึ้นไป ทำแล้ว 50 ราย รับค่าใช้จ่ายสูง 6 แสน - 1 ล้านบาท จับมือ 7 รพ.ขยายอบรมกุมารแพทย์หัวใจผ่าตัดในภูมิภาค
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กทม. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือและเปิดศูนย์ความร่วมมือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็กและวัยรุ่น กรมการแพทย์ ว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดในเด็ก มีความยุ่งยากซับซ้อน อัตราการเสียชีวิตสูง กว่าครึ่งต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจเพื่อแก้ไขความผิดปกติ แต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดกว่า 4,000 ราย จำนวนนี้ต้องกลับมารับการผ่าตัดซ้ำกว่า 400 ราย คิดเป็น 10% ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจและร่างกายเด็กมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพ เป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำบ่อยที่สุด
ทั้งนี้ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวน เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยและลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดซ้ำได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 600,000- 1,000,000 บาท สถาบันสุขภาพเด็กฯ เริ่มให้บริการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน ตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันให้การรักษาไปแล้ว 50 ราย ติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องกว่า 10 ปี พบว่า ลิ้นหัวใจใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ ประกอบอาชีพดูแลตนเองและครอบครัวได้
นพ.โอภาสกล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็กและวัยรุ่นครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาทักษะการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนมากขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต พัฒนาระบบส่งต่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้สะดวก เป็นแหล่งฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันผลงานทางวิชาการ งานวิจัยแบบมีส่วนร่วม
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ เป็นการขยายความร่วมมือและผลักดันผลงานทางวิชาการ งานวิจัย การทำ Benchmarking โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยความร่วมมือของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กฯ , ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ รพ.สงขลานครินทร์ ม.อ. , ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.ราชวิถี , สถาบันโรคทรวงอก , รพ.มหาราชนครราชสีมา , รพ.สุราษฎร์ธานี และ รพ.หาดใหญ่
ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์ กุมารเวชศาสตร์-โรคหัวใจ รอง ผอ.ด้านการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวว่า การผ่าตัดลิ้นหัวใจพัลโมนารีสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด แต่ลิ้นหัวใจเทียมนี้เฉลี่ยมีอายุการใช้งาน 10 ปี ก็จะเสื่อมลงและต้องมาผ่าตัดซ้ำเพื่อเปลี่ยนใหม่ นอกจากนี้ ยังขึ้นกับการดูแลสุขภาพด้วย หากดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากช่องปากลงไปด้วย ปกติการผ่าตัดก็เพิ่มความเสี่ยงต่อเด็ก 3-5% อยู่แล้ว การผ่าตัดซ้ำก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อร่างกายมากขึ้น แต่การผ่าตัดลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านสายสวนจะช่วยลดความเสี่ยงลง โดยจะสวนจากทางขาหนีบขึ้นไป สามารถทำได้ในเด็กที่มีน้ำหนัก 30 กิโลกรัมขึ้นไป โดยจะผ่าตัดในกลุ่มที่ผ่าตัดหัวใจมาแล้วมีประมาณ 400 ราย สำหรับในภูมิภาคมี รพ.สงขลานครินทร์ที่ผ่าตัดทางสายสวนได้ การลงนามครั้งนี้ จะเทรนนิ่งกุมารแพทย์โรคหัวใจ รพ.ที่เข้าร่วม ใช้เวลาอบรมประมาณ 3 เดือน และเมื่อมีเคสทางสถาบันสุขภาพเด็กฯ ก็จะเป็นพี่เลี้ยงในการลงไปร่วมผ่าตัด ทั้งนี้ ลิ้นหัวใจพัลโมนารีมีราคาสูง ยังไม่ครอบคลุมสิทธิ และยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายผ่าตัดอื่นๆ โดยค่าใช้จ่ายจะมีมูลนิธิช่วยดูแล และจะเร่งหารือกับ สปสช.เพื่อดูแลตรงนี้ด้วย