ศิริราช ลงนามร่วม คณะแพทย์ ม.อ. และ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เป็น รพ.พี่เลี้ยงพัฒนาปลูกถ่ายตับ เพิ่มเข้าถึงการรักษาในภาคใต้และอีสานตอนล่างที่ยังไม่สามารถบริการได้
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะตับ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ รพ.สรรพสิทธิประสงค์
ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ศิริราชปลูกถ่ายอวัยวะมาตั้งแต่ปี 2514 จัดตั้งงานเปลี่ยนอวัยวะศิริราชตั้งแต่ปี 2536 และพัฒนาต่อเนื่องให้มีมาตรฐานสากล ทำให้ศูนย์ปลูกถ่ายตับ รพ.ศิริราชได้รับการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรคเป็นสถาบันแรกในสาขานี้ และเป็น 1 ใน 17 ศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศของศิริราช เป็นต้นแบบของสถาบันทางการแพทย์ในการดูแลผ่าตัดรักษาผู้ป่วยปลูกถ่ายตับ ทั้งด้านการบริการ การวิจัย การศึกษาและการฝึกอบรม โดยศูนย์ฯ ปลูกถ่ายตับทั้งผู้ใหญ่และเด็กไปแล้วเกือบ 500 คน อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยโรคตับจำนวนมากในไทยที่ขาดโอกาสเข้าถึงการปลูกถ่ายตับ โดยเฉพาะภาคใต้และอีสานตอนล่าง
คณะฯ จึงลงนามความร่วมมือการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะตับกับคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. และ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำหัตถการ การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ การผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วย พัฒนาการวิจัย พัฒนาความร่วมมือด้านระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายตับหรือหลังผ่าตัด โดยคณะจะเป็น รพ.พี่เลี้ยงร่วมพัฒนาจัดตั้งการผ่าตัดดูแลรักษาผู้ป่วยปลูกถ่ายตับอย่างเป็นระบบที่มีมาตรฐานสากล ทั้งด้านบริการรักษา วิจัยและการศึกษา นำไปสู่ความเข็มแข็งเพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ผศ.นพ.ประวัฒน์ โฆสิตะมงคล ประธานศูนย์ปลูกถ่ายตับศิริราช กล่าวว่า โรคตับแข็งมีอัตราเสียชีวิตอันดับ 7 ของประเทศ สัดส่วนเสียชีวิต 17 ต่อประชากร 1 แสนคน เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับที่พบมากและเสียชีวิตมากสุด การรักษาเป็นเพียงประคับประคองไม่สามารถรักษาให้หายขาด ยกเว้นการปลูกถ่าย แต่ปัจจุบันการปลูกถ่ายตับทำได้ในศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ กว่า 80% อยู่ใน กทม. ส่วนภูมิภาคมีเพียงภาคเหนือและอีสานตอนบน
รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า ขอบคุณศิริราชที่เป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมให้กับคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.เพื่อนำไปพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศการปลูกถ่าย ม.อ.ให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถปลูกถ่ายตับได้ ที่ผ่านมาคนไข้ใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่จำเป็นต้องปลูกถ่ายตับต้องส่งมารักษาที่ส่วนกลาง จากสถิติผู้ป่วยรพ.สงขลานครินทร์ ปี 2565 ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง 3,813 คนต่อปี ผู้ป่วยโรคตับแข็ง 2,345 คนต่อปี ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ HCC 702 คนต่อปี แนวโน้มผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังและมะเร็งตับสูงขึ้นทุกปี
นพ.มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผอ.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ กล่าวว่า โรคตับแข็งเป็นอีกโรคที่พบมากในพื้นที่อีสานตอนล่าง ความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกทางเลือกในระบบการรักษาที่เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น