ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่มีความรุนแรงสูงตามมาอย่าง ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด ภัยเงียบหน้าร้อนที่น่ากลัวและอันตรายถึงชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยที่หลายคนมองข้าม
แพทย์หญิงรัตติยา เหลืองอำพนศักดิ์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวไว้ว่า ฮีทสโตรกเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ จนทำให้ร่างกายเกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่สามารถระบายความร้อนได้ภายใน 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง และกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
7 สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง
1. มีอุณหภูมิในร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
2. ไม่มีเหงื่ออกตามร่างกาย
3. ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว
4. ความดันโลหิตลดลง
5. หัวใจเต้นเร็วแรงผิดจังหวะ
6. กระหายน้ำ
7. คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนเพลีย
กลุ่มเสี่ยงโรคลมแดด
• ผู้สูงอายุ
• เด็กเล็ก
• ผู้ที่มีโรคประจำตัว
• ประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยระยะพักฟื้น
• ผู้ที่ออกกำลังกายหรือใช้กำลังเป็นเวลานาน
• ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
ช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด งดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ หากเกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันทีและรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสมองและอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ของร่างกาย
ศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรฉุกเฉินที่ได้รับการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มุ่งมั่นให้การดูแลผู้ป่วยด้วยคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยเป็นสำคัญ พร้อมทีมกู้ชีพช่วยเหลือ มีบริการรถ Mobile ICU เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วนศูนย์หัวเฉียวพิทักษ์ชีพ โทร. 081-870-3538-40