"อนุทิน" เตือนกลุ่มจัดงานวันกัญชาโลก หากมีสูบเสพพี้ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่เอาผิดได้ทันที ขออย่าทำในสันทนาการ เอื้อกลุ่มแอนตียิ่งยี้ไม่เอาทางการแพทย์
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. เมื่อเวลา 11.20 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีจะมีการจัดกิจกรรมวันกัญชาโลกที่ถนนข้าวสาร โดยมีการทำกิจกรรมเดินพาเหรดสูบกัญชา ว่า การจัดงานขอให้อยู่ในกรอบของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็คือกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ความเข้มข้นบทลงโทษมีคนบทั้งปรับและจำคุกด้วย ขอให้อยู่ในกฎหมาย เน้นในการใช้ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและทางการแพทย์ การสูบในที่สาธารณะไม่ได้อยู่แล้วผิดกฎหมาย จึงไม่อยากให้เสียค่าปรับหรือเสี่ยงถูกดำเนินคดี เพราะการเปรียบเทียบปรับเป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ หากเห็นว่าเตือนแล้วหลายครั้งยังดำเนินการอยู่ อาจไม่ได้ปรับอย่างเดียว อาจจะถึงจำคุกด้วย ฉะนั้นจึงต้องระวัง
"ถ้าทำพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายแบบนี้ ก็ยิ่งเข้าทางคนที่ด้อยค่าสรรพคุณของกัญชา หากทำแบบนี้ทำให้คนเห็นว่า นำมาใช้ในเรื่องของการพี้ และสันทนาการ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของ สธ. ถ้าใช้อย่างนี้โอกาสที่จะเข้าทางผู้ที่ไม่ต้องการให้ใช้ทางการแพทย์ ก็จะมีเหตุผลที่จะต่อต้าน ยืนยันว่า สธ.ใช้ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า ผู้ที่เอาไปใช้ในทางอื่น สธ.ก็ไม่อยากเห็นการติดคุก หรือถูกดำเนินคดี อย่างร้านค้าต่างๆ ที่ขอใบอนุญาตหลายพันราย อุตส่าห์เปิดแล้วต้องถูกเพิกถอนถูกดำเนินคดีปิดร้าน ทำให้ความเดือดร้อนเกิดขึ้นกับผู้ที่ตั้งใจทำ ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจากตำรวจนครบาลและรองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ก็บอกว่าพร้อมดำเนินคดี เพราะทุกคนเข้าใจหมดแล้ว ซึ่งรู้แล้วยังทำจะมีโทษหนัก
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 20 เม.ย. เป็นวันกัญชาโลก กรมอนามัยเน้นย้ำประชาชนและผู้ประกอบการ ต้องระวังการจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เนื่องจากอาจมีการจัดงานสูบบ้องเลียนแบบต่างประเทศ ซึ่งกัญชาควรใช้ในทางการแพทย์และภายใต้การควบคุมเท่านั้น นอกจากนี้ การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควัน ถือเป็นเหตุรำคาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 โดยควันมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด และหลอดลมอักเสบได้
"เจ้าพนักงานมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการกระทำ หากมีพยานหลักฐานกระทำดังกล่าวจริง ให้ดำเนินการไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง เจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำแนะนำให้ผู้ก่อเหตุรำคาญระงับหรือป้องกัน จากนั้นจะติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำ หากไม่ทำให้ออกคำสั่งเป็นหนังสือ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไข กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" นพ.อรรถพลกล่าว
ด้าน นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 กรมฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีผู้กระทำผิด ทั้งใน กทม.และภูมิภาค โดย กทม.ลงพื้นที่ 10 เขต จับ ปรับดำเนินคดี 15 รายผิดเงื่อนไขใบอนุญาตฯ สั่งพักใช้ใบอนุญาต 4 ราย ภูมิภาค 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ , ปทุมธานี , ชลบุรี (พัทยา), สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า) ,ตราด (เกาะช้าง), ภูเก็ต และนนทบุรี รวม จับ ปรับ ดำเนินคดี 25 ราย ผิดเงื่อนไขใบอนุญาตฯ ตักเตือน สั่งพักใช้ใบอนุญาต 6 ราย สำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดต้องมีโทษตามกฎหมาย ปัจจุบันมีสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ยื่นขออนุญาตเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ส่งออก ศึกษาวิจัย ทั้ง กทม.และอีก 76 จังหวัด โดย กทม.ยื่น 2,260 คำขอ ออกใบอนุญาต 1,862 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.68% ภูมิภาคยื่น 8,986 คำขอ ออกใบอนุญาต 6,679 ราย คิดเป็น 74.32% การกระทำความผิดกรณีจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม โดยมิได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ