xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิบัตรทองต้องอ่าน!! แนวทางดูแลหากป่วย "โควิด" แบ่งดูแล 4 แบบ ผ่านร้านยา-ออนไลน์-รพ.-ใช้สิทธิ UCEP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.แจงแนวทางดูแล "บัตรทอง" ป่วยโควิด 4 กลุ่ม กลุ่มสีเขียวไป "ร้านยา" หรือ พบแพทย์ออนไลน์ผ่าน 4 แอปฯ เผยแต่ละแอปฯ รับดูแลแต่ละกลุ่มต่างกัน หากมีภาวะเสี่ยงรุนแรงให้ไปสถานพยาบาลประจำ แต่หากรุนแรงสีแดง ใช้สิทธิ UCEP รักษาได้ทุกแห่ง
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังสงกรานต์สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อาจจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สปสช.ได้เตรียมความพร้อมดูแลสิทธิบัตรทองให้เข้าถึงการรักษา กรณีผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ มีไข้อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ตาแดง มีผื่น ถ่ายเหลว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ตรวจ ATK และหากขึ้น 2 ขีดผลเป็นบวก ให้เข้ารับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบบริการที่ สปสช. ดำเนินการรองรับไว้ โดยกลุ่มสีเขียวอาการเล็กน้อย เข้ารับบริการได้ ดังนี้ 1.ร้านยาคุณภาพของฉัน โดยให้ญาติผู้ป่วยไปที่ร้านยาที่เข้าร่วม พร้อมบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ป่วยเพื่อยืนยันการรับบริการ เภสัชกรประจำร้านยาจะวิดีโอคอลซักถามอาการผู้ป่วย หากจ่ายยาจะแนะนำวิธีใช้ยาด้วย โดยให้ญาตินำกลับไปให้ผู้ป่วย และจะถ่ายภาพการบริการและจ่ายยาเพื่อนำบันทึกในโปรแกรม Amed ใช้เป็นหลักฐานการ หลังจากนั้น 3 วัน เภสัชกรจะติดตามอาการผู้ป่วยเพิ่มเติม ตรวจสอบรายชื่อร้านยาได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197

2.พบแพทย์ออนไลน์ ส่งยาฟรีถึงบ้าน ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ผู้ป่วยจะได้รับการซักถามและจ่ายยาตามอาการ หากเข้าเกณฑ์จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนี้ Totale Telemed รับกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ กลุ่ม 608 , Clicknic รับกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง กลุ่ม 608 ทั่วประเทศ , MorDee รับกลุ่มสีเขียวเฉพาะพื้นที่ กทม. ไม่รับกลุ่ม 608 และ Saluber MD รับกลุ่มสีเขียว เฉพาะพื้นที่ กทม. ไม่รับกลุ่ม 608

3.กรณีมีภาวะเสี่ยงรุนแรง เป็นกลุ่ม 608 หรือมีโรคร่วม และมีอาการรุนแรงขึ้น (สีเหลือง) คือ วัดไข้ได้ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมงใน 1 วัน วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94% มีภาวะแทรกซ้อนหรือการกำเริบของโรคประจำตัว มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง มีภาวะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. และผู้ป่วยเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วงหรือชักจากไข้สูง เป็นต้น ให้เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น สถานีอนามัยหรือ รพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชน

4.กรณีอาการรุนแรงสีแดง ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช๊อก/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94 ต้องรีบรักษาโดยเร็ว เข้ารับบริการที่หน่วยบริการได้ทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดเพื่อรักษาทันท่วงที โดยใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)

สำหรับกลุ่มเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธาณสุข สามารถไปตรวจ ATK ได้ฟรีที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำหรือที่หน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งจะได้รับการตรวจด้วย ATK professional use หรือตรวจโดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น