สธ.เผยทั่วโลก "โควิด" ขาลง ไทยเป็นระลอกเล็กหลังสงกรานต์และฤดูฝน ผู้เสียชีวิตต่ำกว่าที่คาด เร่งสอบย้อนกลับอาการผู้ป่วย XBB.1.16 ส่วนเคสคนงานเมียนมาดับ จะเก็บตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ ตายจากโควิดหรือไม่ต้องดูอาการ แจงวัคซีนโควิดประจำปีฉีด 1 เข็ม ห่างเข็มสุดท้ายหรือติดเชื้อ 3 เดือน ทุกยี่ห้อทุกรุ่นใช้ฉีดได้ตามช่วยอายุที่ขึ้นทะเบียน
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมอัปเดตสถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์ แนวทางการรักษา และการให้วัคซีน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไร อยู่ในช่วงขาลงด้วยซ้ำ ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต เนื่องจากหมดช่วงฤดูหนาวในประเทศแถบเหนือ ส่วนประเทศไทยช่วงต้น เม.ย.ก็พบผู้ติดเชื้อน้อยมากในหลักร้อยที่เข้ามารักษาใน รพ. แต่หลังสงกรานต์ผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็ก สถานการณ์ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยจะมีผู้ป่วยเพิ่มอีกครั้งในช่วงฤดูฝนกลาง พ.ค.เป็นต้นไป ขณะนี้การติดเชื้อใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ส่วนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนกรณีคนกังวลเรื่อง XBB.1.16 เพิ่มขึ้น การจะเข้าใจโรคได้ดีต้องมีการเก็บข้อมูล ขอให้ รพ.ดำเนินการสอบสวน หากพลคลัสเตอร์ผู้ป่วยที่มีอาการและตรวจพบโควิด ตัวอย่างที่เหลือจากตรวจเบื้องต้น ขอให้ส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ เราได้ข้อมูลจากกรมวิทย์ฯ ส่วนหนึ่งจะสอบย้อนกลับไปว่า คนที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสายพันธุ์ XBB.1.16 เคยมีอาการอย่างไรบ้าง ขอให้ รพ.และผู้ป่วยที่หายแล้วให้ข้อมูล เพื่อจะได้มีข้อมูลของประเทศไทย นำไปสู่การวางมาตรการที่เหมาะสม
ถามถึงกรณีคนงานเมียนมาเสียชีวิตในห้องพักย่านสาทร ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด หลายคนตั้งข้อสังเกตอาจติดโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 เนื่องจากก่อนป่วยเป็นไข้และมีอาการตาแดง นพ.โสภณว่า กรณีนี้มีการตรวจด้วย ATK ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้น พบว่ามีการติดเชื้อ แต่ยังไม่มีการเก็บตัวอย่างมาตรวจ RT-PCR เพื่อถอดรหัสพันธุกรรม ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเก็บตัวอย่างใหม่จากร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งจะมีปริมาณเชื้อมากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เสียชีวิตด้วย คาดว่าจะทราบข้อเท็จจริงใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนเสียชีวิตเพราะโควิดหรือไม่ต้องดูว่า ขณะที่ป่วยมีอาการปอดอักเสบหรือไม่ มีอาการระบบทางเดินหายใจจนไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนในร่างกายได้ จนทำให้หัวใจหยุดเต้นหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนโรคอีกครั้ง ขณะนี้จึงไม่สามารถสรุปข้อมูลได้
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่จะปรับมาเป็นการฉีดประจำปีนั้น ทั่วโลกก็เริ่มปรับมาเป็นการฉีดประจำปีเช่นกัน ซึ่งการให้วัคซีน 1 เข็มเป็นวัคซีนประจำปี ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือติดเชื้อ 3 เดือน ถ้าฉีดมา 1-2 เดือนก็ให้รอจนครบ 3 เดือนก่อน กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่ม 607 หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุ 1-5ปี ผู้ที่มีอาชีพสัมผัสให้บริการคนจำนวนมาก สถานที่แออัด ทัณฑสถาน เรือนจำ และบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อสม. โดยวันที่ 1 พ.ค.นี้ กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่จะรับวัคซีนประจำปีก็รณรงค์พร้อมกัน ทั้งนี้ วัคซีนโควิดรุ่นเดิมรุ่นใหม่ไม่ว่ายี่ห้อใดใช้เป็นเข็มกระตุ้นประจำปีได้ ตามช่วงอายุที่ขึ้นทะเบียนไว้ เช่น วัคซีนไฟเซอร์ฝาแดง สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ขวบ ฝาส้มสำหรับ 5-11 ขวบ และสีม่วงสำหรับ 12 ปีขึ้นไป
ขณะนี้มีวัคซีน Bivalent รุ่นใหม่ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา สำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กยังเป็น Monovalent อยู่ ซึ่งกรณีใช้กระตุ้นภูมิสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงกลับมาในระดับป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีอาการป่วยหนักและรุนแรงได้ Bivalent ของเด็กจะจัดหาในระยะต่อไป เรามี Monovalent จัดหามาปีที่แล้วอีกจำนวนหนึ่ง สามารถให้บริการฉีดได้ตามกลุ่มอายุเป้าหมายที่กำหนดบริษัทวัคซีนขึ้นทะเบียนกับ อย.
ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงก่อนสงกรานต์ อัตราการรับวัคซีนโควิด 19 ของประชาชนค่อนข้างน้อยมาก แต่หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด XBB.1.16 ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและหันมารับวัคซีน อาจมาด้วย 2 ปัจจัย คือ ภูมิคุ้มกันที่ลดลง จากระยะห่างของการรับวัคซีน และความกังวลต่อไวรัสสายพันธุ์ลูกผสมตัวใหม่ ทำให้คนได้รับวัคซีนมากขึ้น ทั้งนี้ สถานที่ฉีดวัคซีนในสังกัดกรมการแพทย์เปิดให้บริการตามปกติ ได้แก่ รพ.ราชวิถี , สถาบันโรคผิวหนัง, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และ รพ.สงฆ์ ส่วนภูมิภาค ได้แก่ รพ.มหาวชิราลงกรณ์ธัญบุรี , รพ.มะเร็งลพบุรี, รพ.ประสาทเชียงใหม่, รพ.มะเร็งอุบลราชธานี และ รพ.มะเร็งชลบุรี
ส่วนแผนการฉีดวัคซีนโควิดควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่จะเริ่มวันที่ 1 พ.ค. เบื้องต้นจะเป็นการฉีดวัคซีนแบบคู่ คือ ต้นแขนข้างหนึ่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกข้างหนึ่งฉีดวัคซีนโควิด เพื่อความสะดวกในการรับบริการ เริ่มในกลุ่มเสี่ยง 608 ก่อน เบื้องต้นให้บริการในสถานพยาบาลเวลาราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะพบอีกในช่วง พ.ค. ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับตัววัคซีนยังคงต้องรอกรมควบคุมโรค ยังไม่มีความคิดในเรื่องขยายจุดฉีดวัคซีนไปยังสถานีกลางบางซื่อเหมือนอดีต สำหรับสถาบันโรคผิวหนังวันนี้มีประชาชนทยอยมารับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และเปิดให้บริการวัคซีน Bivalent