กรมวิทย์ แจงสายพันธุ์ "โควิด" ต้องจับตาในไทย XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 พบกำลังเพิ่มขึ้น อย่าเชื่อเฟคนิวส์ ยัน XBB.1.16 ไม่ได้รุนแรงเท่าเดลตา แต่อาจแพร่เร็วขึ้น ต้องจับตา 1 เดือนจะเบียดสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ย้ำอาการ "ตาแดง" ไม่มีไข้ ไม่ได้แปลว่าต้องติดสายพันธุ์ XBB.1.16 สั่งตรวจสายพันธุ์เพิ่ม รพ.จังหวัดส่งตรวจอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง เน้นเสียชีวิต มีอาการรุนแรง
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัปเดตสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดชั้นของเชื้อโควิด 19 เพียง 2 ชั้น คือ VOI คือ อยู่ในความสนใจ ตอนนี้มีเพียง XBB.1.5 และ VUM คือเฝ้าระวังดู มี 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1 , BA.2.75 และลูกหลาน , CH.1.1 , XBB , XBB.1.16 , XBB.1.9.1 และ XBF ทั้งนี้ สถานการณ์ทั่วโลกยังเป็น XBB.1.5 มากที่สุด 47.9% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วน XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 เริ่มฉายแววและเพิ่มจำนวนขึ้นหลายพื้นที่ แต่ XBB.1.16 ยังไม่ได้ถูกใส่รหัสในฐานข้อมูลโลก GISAID แต่เมื่อคีย์ข้อมูลลักษณะเฉพาะของ XBB.1.16 เข้าไปพบว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.2% มาเป็น 0.5% 1% 2% และ 4% หรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากวันหนึ่งแพร่เร็วจริงก็อาจจะเบียด XBB.1.5 ไปได้ โดย XBB.1.16 พบในอินเดียเยอะมาก สหรัฐอเมริกาก็พบเพิ่มขึ้นเป็น 7.2%
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนการเปรียบเทียบระหว่าง XBB.1.5 และ XBB.1.16 จะพบว่า ตำแหน่งที่กลายพันธุ์บางส่วนเหมือนกัน คือ F486P แต่ที่ XBB.1.16 จะเพิ่มขึ้นมา คือ E180V และ K478R ซึ่งตำแหน่งนี้เคยมีในเดลตา ทำให้เฟกนิวส์บอกว่าจะรุนแรงเท่าเดลตา ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เพราะเดลตาเป็น T478K แม้จะตำแหน่งเดียวกัน แต่การเปลี่ยนตำแหน่งเบสคนละฐานกัน การไปสรุปว่ารุนแรงตายเท่าเดลตาจึงไม่จริง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางแล็บสันนิษฐานจากตำแหน่งกลายพันธุ์ของ XBB.1.16 น่าจะแพร่เร็วกว่า XBB.1.5 หาก 1 เดือนข้างหน้าขึ้นมา 10-30% แสดงว่าเร็วจริง ก็อาจจะเบียดตัวเก่าไป ส่วนภูมิคุ้มกันหลบได้พอๆ กัน ใครที่เคยติดสายพันธุ์เก่าๆ ปีที่แล้ว สามารถติดซ้ำได้ ประสิทธิผลวัคซีนลดลงบ้างในแง่ของการป้องกันการติด แต่ความรุนแรง WHO สรุปว่ายังไม่มีหลักฐาน ทำให้เกิดโรคได้เยอะขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลว่าทำให้ตายหรือต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
"สำหรับอาการไม่แตกต่างกันมาก แต่มีประเด็นคือ อินเดียมีรายงานโดยเฉพาะเด็ก คือ มีอาการตาแดงแล้วคัน หรือ Sticky Eyes ตาลืมไม่ค่อยได้ ตาเหนียว แต่ไม่มีหนอง พบอาการขึ้นมาได้ แต่มากน้อยเท่าไรไม่ทราบ เนื่องจากยังไม่มีการเก็บสถิติว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ใหญ่ก็มีได้ อย่างที่ดาราคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็เป็น นอกจากนี้ ยังมีอินโฟกราฟิกไม่ทราบสถาบันไหนออกมา บอกว่า XBB.1.16 ต้องไม่มีไข้ และตาแดง มีผื่น ต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ว่าตาแดง ไม่มีไข้ จะต้องเป็นสายพันธุ์นี้ หากมีไข้แล้วจะไม่เป็น หรือตาแดงก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องเป็นสายพันธุ์นี้" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยถอดรหัสพันธุกรรมเป็นระยะ เราส่ง XBB.1.5 ไป GISAID 43 ราย XBB.1.16 จำนวน 10 ราย สำหรับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 8-14 เม.ย.2566 เราพบ XBB.1.9.1 มากขึ้น XBB.1.16 ก็เพิ่มขึ้นมา ซึ่งจริงๆ เคยเจอก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ถูกกำหนดชื่อเพราะวิเคราะห์กันอยู่ ซึ่ง 2 ตัวนี้น่าจับตามอง ที่ดูท่าว่าจะเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ส่วน BA.2.75 เดิมที่พบเยอะลดลงแล้ว XBB ตัวแม่ก็ดูท่าจะลดลง ส่วนที่บอกว่าเป็นตัวใหม่ XBB.1.16 แล้ว ตรวจ ATK ไม่เจอ ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง การตรวจวินิจฉัยด้วย ATK หรือ RT-PCR ไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า เพราะเป็นการตรวจโปรตีนของโควิด 19 ไม่ว่าสายพันธูไหนต้องมีโปรตีนอยู่แล้ว หากมีก็จะขึ้น แต่ต้องเข้าใจพื้นฐานของ ATK หากเชื้อไม่มากจะหาไม่เจอ ฉะนั้น ติดเชื้อวันนี้พรุ่งนี้ตรวจเลยก็เป็นลบ ต้องใช้เวลา 4-5 วัน แต่ RT-PCR ไวกว่า 1-2 วันก็เจอได้ ไม่ว่าสายพันธุ์อะไรไม่แตกต่างกัน ยกเว้น ATK เสื่อม เก็บไม่ดี หมดอายุ
"XBB.1.16 ในไทยพบ 27 ราย มีทั้งติดในประเทศและมาจากต่างประเทศ พบว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่เป็นคนต่างประเทศ อายุมากประมาณ 85 ปี อาจมีโรคประจำตัวหลายโรค เรื่องความรุนแรงยังไม่มีว่าเป็นแล้วต้องตาย ไม่ได้รุนแรงเท่าเดลตา ตอนนี้ XBB.1.16 มีสัญญาณบางอย่างอาจแพร่เชื้อเร็วกว่าเดิม แต่ต้องพิสูจน์ว่าสุดท้ายเบียดหรือไม่ ภูมิคุ้มกันหลบไม่ต่างกัน เราจะตรวจเพิ่มขึ้น จำนวน 27 รายไม่ได้มีความหมายมาก เพราะเราตรวจมากก็เจอมาก ตรวจน้อยก็เจอน้อย แต่ให้ดูสัดส่วนว่าเพิ่มลดกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะเปิดตรวจให้มากขึ้น ซึ่งเดิมเราลดตรวจเหลือไม่ถึง 100 ราย/สัปดาห์ จึงขอให้ส่งตัวอย่างคนที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตส่งมาตรวจเพื่อรู้สายพันธุ์" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เมื่อเป็น XBB ได้ผลลดลง แต่ยังได้ผล ถ้าจะต้องใช้ทุกอย่างเข้าไปช่วยกันกรณีคนไข้หนักก้ยังมีความจำเป็น หรือเพิ่มลดความรุนแรงยังจำเป็น ส่วนวัคซีนจะต้องฉีดชนิดไหน ก็แล้วแต่ทุกท่าน Bivalent เป็นอู่ฮั่นและโอมิครอนรุ่นแรกเพิ่มขึ้นมา แต่วัคซีนไล่ตามไม่ทันสายพันธุ์ กว่าจะทดลองและออกมา สายพันธูก็เปลี่ยนแล้ว แต่หมายความว่า วัคซีนชนิดไหนก็ตาม Bivalent อาจดีกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ไม่ได้แบบจั๋งหนับ บางคนกลัว mRNA ไปฉีดไวรัลเวคเตอร์ก็ทำได้ เรามีพร้อมและทุกชนิดให้ฉีด ให้ปรึกษาแพทย์ที่ให้บริการ วัคซีนยังมีประโยชน์แน่นอน คนที่ฉีด 1-2 เข็ม ขอให้มาเติมให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงมากขึ้น ก็จะกันได้มากขึ้น แต่ไม่ได้กันได้ 100% สายพันธุ์ใหม่ๆ ก็หลบได้มากขึ้น แต่ดีกว่าไม่มีอะไรเลยในตัว
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มีข้อมูลวิจัยประเทศอินเดีย ตีพิมพ์ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา อาการของสายพันธุ์ Arcturus ไม่ได้แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ อาการคล้ายกันมาก ส่วนเยื่อบุตาอักเสบจะพบมากในเด็กในอินเดีย ส่วนที่ว่าไม่มีไข้ไม่จริง ต้องมีไข้ ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องตระหนกจนเกินไป วัคซีนยังได้ผลดี ปัจจุบันเรามี Bivalent หลายตัวเข้ามาเลือกใช้ให้เหมาะสมได้ สำหรับการขยายกำลังเฝ้าระวังสายพันธุ์ ปลัด สธ.สั่งการแล้วว่าให้ รพ.จังหวัดทุกแห่งส่งตัวอย่างมาที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างน้อย 1 รพ. ขั้นต่ำ 5 ตัวอย่าง เราจะได้เข้ามา 700 ตัวอย่าง/สัปดาห์ก็เพียงพอเป็นตัวแทนระดับพื้นที่และระดับประเทศ เกณฑ์ส่งตัวอย่างก้มี 8-9 กลุ่ม คือ เสียชีวิต มีอาการรุนแรง ชาวต่างชาติ บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง กรณีเกิดคลัสเตอร์ เป็นต้น เราชี้แจงไปยังพื้นที่แล้ว