ปลัด สธ.ชี้ "โควิด" เพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ แต่รับมือได้ อาการไม่มาก กลุ่มป่วยใส่ท่อช่วยหายใจมีไม่ถึง 20 คน ยาต่างๆ เพียงพอ สถานการณ์เหมือนทั่วโลก WHO ยังไม่จัดสายพันธุ์ XBB.1.16 น่าห่วง ปรับฉีดวัคซีนโควิดประจำปี คู่ "ไข้หวัดใหญ่"
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุมติดตามสถานการณ์ โรคโควิด 19 ว่า ขณะนี้สถานการณ์เป็นไปตามคาดการณ์ หลังเดินทางทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น แต่ยังรับมือได้ เพราะแม้จะมีการติดเชื้อมากขึ้น แต่อาการไม่มาก จำนวนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจทั้ง 12 เขตสุขภาพมีไม่ถึง 20 คน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 2 รายถือว่าน้อยมาก สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วนสายพันธุ์ที่มีการรายงานอย่าง XBB ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นไปตามธรรมชาติ องค์การอนามัยโลกยังให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ยังไม่เป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวลมากนัก ไม่ว่าจะเป็น XBB.1.16 ยังไม่มีหลักฐานว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนการติดง่ายขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ หลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการต่างๆ พบว่าอาจจะติดได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้ติดง่ายแบบมีนัยยะสำคัญมากนัก ดังนั้น การดูสถานการณ์ควรดูทั้งเรื่องสายพันธุ์ อาการทางคลินิก ระบาดวิทยาควบคู่กัน การดูข้อมูลด้านเดียวอาจจะไม่ครบถ้วน
นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ถึงแม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือมีอาการมาก หรือกลุ่มเสี่ยง ยาต้านไวรัสทั้งหลายยังใช้ได้ดีอยู่ ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อไวรัสไม่ตอบสนองต่อยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ Long acting antibody (LAAB) ก็ยังมีประโยชน์ในการรักษา อยู่ที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีการประชุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ก็เห็นพ้องต้องกันว่า การรักษายังคงเหมือนเดิม คือ อาการน้อยหรือไม่มีอาการไม่ต้องกินยา ส่วนกลุ่มเสี่ยงอาการน้อยก็ให้ยาตามแนวทางเดิม เพียงแต่ปรับการให้ยาบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องและเข้าใจมากขึ้น
ส่วนกรณีที่มีโรงเรียนแพทย์ ปรับแนวทางการให้ยา ตนมีการพูดคุยกับ ผอ.รพ.แล้ว ยืนยันว่าสื่อบางสื่อมีการสื่อสารข้อความของอาจารย์ออกไปไม่ครบถ้วนไม่ถูกต้อง ยืนยันว่า ยาต่างๆ มีเพียงพอโมลนูพิราเวียร์ มีหลายล้านเม็ด แพกซ์โลวิดก็มีสามารถรักษาได้เป็นหมื่นคน เรมดิซิเวียร์ มีเป็นแสน ดังนั้นสบายใจได้ เราไม่ขาดแคลนยารักษา
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนประเด็นสุดท้าย ที่ประชุมเห็นชอบตามที่อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันมีคำแนะนำว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 จะเป็นการฉีดประจำปีเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นยุทธศาสตร์ภาพรวมการจัดการเรื่องโรคโควิด 19 เราจะจัดการเหมือนกับโรคประจำถิ่นโรคที่มีการระบาดตามฤดูกาล ดังนั้น การฉีดวัคซีนจะฉีดควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีการรณรงค์ฉีดทั้งประเทศวันที่ 1 พ.ค. ในกลุ่มเสี่ยง 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และ อสม. รวมทั้งเด็ก ส่วนประชาชนคนอื่นมีความประสงค์ก็สามารถฉีดได้เช่นกัน โดยฉีดคู่กัน
ทั้งนี้ มีข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่า คนที่มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ น้ำมูก ส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัดใหญ่ 65% เป็นโควิด 3% ดังนั้น ตัวที่พบมากคือ ไข้หวัดใหญ่ การป้องกันคล้ายคลึงกันคือ ฉีดวัคซีน คนที่มีอาการทางเดินหายใจ ไม่สบายใส่หน้ากากอนามัยก็จะลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยช่วงบ่ายวันนี้ สธ.ร่วมกับแพทยสภา จะมีการสื่อสาร ผ่าน Facebook Live ให้กับแพทย์ทั้งประเทศรับทราบ เพื่อให้ผู้รักษาเข้าใจข้อมูลที่ตรงกัน เพราะที่ผ่านมาข้อมูลที่อยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้แพทย์เกิดความสับสน หลังจากนี้ก็จะมีการสื่อสารไปถึง อสม.ด้วย
เมื่อถามว่า ตอนนี้คนตื่นสถานการณ์โรค แห่ไปฉีดวัคซีน มีความจำเป็นหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝนก็ฉีดได้เลย ฉีดพร้อมไข้หวัดใหญ่จะสะดวกที่สุด เพราะการระบาดใกล้เคียงกัน ไม่ต้องไปนับแล้วว่ากี่เข็ม ต่อไปจะฉีดปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย เวลาฉีดห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน หรือว่าติดเชื้อมาแล้ว 3 เดือนก็สามารถรับวัคซีนได้ สถานการณ์ติดเชื้อและระบาดไม่มาก อย่างอัตราผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมามีอยู่ 2 ราย เคสเพิ่มขึ้นแต่เนื่องจากของเดิมเรามีเคสน้อยมาก ตอนนี้ติดเพิ่มขึ้น ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็เลยเยอะ แต่จากการสอบถามเตียง รพ.ถึงผู้ที่มีอาการหนักก็ถือว่าน้อยมากๆ แต่ก็ต้องระมัดระวัง สบายใจเกินไปก็ไม่ดี ตื่นตระหนกเกินไปก็ไม่เป็นสุข ขอให้ใช้ชีวิตอย่างทางสายกลาง มีความระมัดระวังโดยเฉพาะกลุ่ม 608 คนที่ยังไม่รับวัคซีนประจำปี หากสะดวกก็ติดต่อขอรับวัคซีนใกล้บ้าน
"การเพิ่มขึ้นขณะนี้ยังห่างจากสมัยก่อนเยอะมาก เราติดตามทุกวัน ทุกสัปดาห์ อย่างคนที่ไปทำกิจกรรมสงกรานต์ กลับมาที่ทำงานอยู่ที่บ้าน หากมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก สามารถตรวจ ATK ได้ หากมีอาการก็ไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาต่อไป ย้ำว่าสายพันธุ์นี้ยังไม่มีข้อมูลว่ารุนแรงกว่าเดิม ดูเหมือนว่าจะติดง่ายกว่าเดิม แต่ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการไม่ได้มีนัยยะสำคัญ สายพันธุ์ที่พบในบ้านเราคือ XBB.1.5 ไม่ใช่ XBB.1.16 ขออย่ากังวล ไวรัสเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอดเวลา แต่เรามีทีมติดตามอยู่" นพ.โอภาสกล่าว