รพ.บางปะอิน เปิดผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า 1 ปี รักษาแล้ว 129 ราย ปีนี้ตั้งเป้า 200 ราย ดูแลแล้ว 76 ราย ช่วยลดรอคิวผ่าตัดจาก 1-2 ปี เหลือ 3-6 เดือน ลดแออัด รพ.จังหวัด รับส่งต่อ รพ.ชุมชนอื่นๆ เล็งขยายห้องผ่าตัดเพิ่ม
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นพ.ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผอ.รพ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า รพ.บางปะอินเปิดให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเมื่อ มิ.ย. 2565 เป็น รพ.ชุมชนแห่งแรก และเป็น รพ.แห่งที่ 2 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ให้บริการได้ ช่วยให้สิทธิบัตรทองใน อ.บางปะอิน เข้าถึงบริการมากขึ้น ลดระยะเวลารอคอย จากเดิมรอนัดผ่าตัดนาน 1-2 ปี เพราะมี รพ.รัฐเพียงแห่งเดียวที่ทำได้ แต่ปัจจุบันเวลารอคอยเฉลี่ยลดลงเหลือ 3-6 เดือน นอกจากนี้ รพ.ยังเป็น รพ.แม่ข่าย (Node) ให้กับ รพ.บางไทร และ รพ.วังน้อย ซึ่งเป็น รพ.ชุมชนพื้นที่ข้างเคียง รับส่งต่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย รวมถึงกรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด่วน ช่วยลดความแออัดและแบ่งเบาภาระ รพ.จังหวัด
นพ.ฐาปกรณ์กล่าวว่า ข้อมูลเฉลี่ยตั้งแต่เปิดให้บริการถึงปัจจุบัน ได้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว 129 ราย โดยปี 2566 ให้บริการแล้ว 76 ราย โดย 60-70% เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ซึ่งงบประมาณที่ สปสช.จัดสรรมาเพื่อสนับสนุนการให้บริการเพียงพอที่จะบริหารจัดการ ทั้งนี้ ถ้าเป็นคนไข้บัตรทองไม่ว่าจากใน อ.บางประอิน หรือพื้นที่อื่น และประสงค์จะมารับบริการ ซึ่งมีอาการที่เข้าเกณฑ์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และทีมแพทย์พร้อมให้บริการ ก็มาเข้ารับการนัดหมายรักษาได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพระหลักเกณฑ์ของ สปสช. ครอบคลุมไว้หมดแล้ว
สำหรับปี 2566 ตั้งเป้าว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ได้ 200 ราย ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 15% ของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในเขตสุขภาพที่ 4 รวมถึงในอนาคตอันใกล้จะขยายห้องผ่าตัด หาบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อให้บริการได้มากขึ้น รองรับผู้ป่วยจากอำเภออื่นๆ เช่น มหาราช บ้านแพรก พาชี ยังคงจุดเน้นมาตรฐานไม่ต่างจาก รพ.ขนาดใหญ่ และระยะรอคอยรักษาที่เร็วกว่าหลายแห่ง จึงมั่นใจได้ว่าการผ่าตัด เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์มีคุณภาพแน่นอน เพราะการจะให้บริการต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ซึ่งประสานราชวิทยาลัยศัลยกรรมกระดูกและข้อ ประเมินด้านต่างๆ เช่น การดูแลผู้ป่วยในห้องไอซียู/ห้องผ่าตัด เป็นมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ ไม่ว่าจะโรงเรียนแพทย์ หรือ รพ.จังหวัด