xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออก 3 มาตรการคุม "โควิด" หลังสงกรานต์ ป้องกันระบาด สั่งสอบสวนโรคเคสรุนแรง-ดับ ตรวจสายพันธุ์ทุกราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.รับ "สงกรานต์" รวมตัวมาก เพิ่มเสี่ยงติดเชื้อ “โควิด” ตามคาด ย้ำสังเกตอาการ 7 วัน วาง 3 มาตรการป้องกันแพร่ระบาด ทุกคนเข้ารับวัคซีน สวมหน้ากากในที่สาธารณะ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ สั่งเตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ เตียง สอบสวนโรคกรณีป่วยรุนแรง-เสียชีวิต ระบาดเป็นคลัสเตอร์ พร้อมตรวจสายพันธุ์ผู้เสียชีวิตทุกราย แจง XBB 1.16 เพิ่มขึ้นทั่วโลก อาจเป็นสายพันธุ์หลักต่อไป ยังไม่พบรุนแรง-หลบวัคซีนมากกว่าตัวอื่น

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้กลับมามีกิจกรรมรวมตัวคนจำนวนมาก เช่น สังสรรค์ในครอบครัว รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเล่นน้ำสงกรานต์ที่จัดในหลายพื้นที่ หลังงดเว้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 มาหลายปี ระหว่างทำกิจกรรมมีการใกล้ชิดและไม่ได้สวมหน้ากาก จึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ได้ ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ โดยสถานการณ์ล่าสุด วันที่ 9-15 เม.ย. 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาใน รพ. 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน

นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อแนะนำประชาชนหลังเทศกาลสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้วางแนวทางป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 สำหรับประชาชน 3 มาตรการ คือ 1.ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เริ่ม พ.ค.นี้ จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี สามารถรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รับวัคซีนแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยกรมควบคุมโรคได้จัดส่งวัคซีนและ LAAB ให้สถานบริการในสังกัด สธ.ไว้ฉีดประชาชนอย่างเพียงพอ

2.สวมหน้ากากในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกิจกรรมหรือไปสถานที่ที่มีกลุ่ม 607 จำนวนมาก เช่น รพ. สถานดูแลผู้สูงวัย และ 3.ให้ตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 สถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาใน รพ. สำหรับกลุ่ม 608 หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีสมาชิกครอบครัว เพื่อน/เพื่อนนักเรียน/เพื่อนร่วมงาน ที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกในช่วง 1-2 สัปดาห์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค

ส่วนมาตรการสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คือ 1.เร่งสื่อสารประชาชน และเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี พร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 2.เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ และเตียง รองรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการป่วยรุนแรงให้เพียงพอ 3.ทุกจังหวัดเร่งรัดติดตามเฝ้าระวังและรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง ทั้งใน รพ.และชุมชน โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ทุกราย ให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ ส่งตรวจ RT-PCR และตรวจหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวข้อง และรายงานข้อมูลภายใน 24 ชั่วโมง และ 4.ทุกจังหวัดเตรียมทีมออกสอบสวนโรค กรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตทุกราย เพื่อหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค รวมทั้งการระบาดของโรคที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะใน รพ. โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการและด้อยโอกาส ค่ายทหาร เรือนจำ กลุ่มนักท่องเที่ยว ตามเกณฑ์ที่กำหนด


ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ยังเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน สายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB พบ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกันทั่วโลก โดยพบว่าในอินเดียมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเชื่อว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ทั้งหมดในที่สุด หรือกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่จะระบาดในช่วงต่อไป แต่ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ และยังไม่พบว่ามีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในช่วงเวลานี้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น