สธ.พัฒนาเว็บแอปฯ จัดการข้อมูลผลตรวจสุขภาพกลุ่มเสี่ยง "ฝุ่น" จากแหล่งผลิตหินก่อสร้าง ต.หน้าพระลาน "สระบุรี" ช่วยสืบค้น เฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา ส่งต่อรวดเร็ว เสนอขยายผลพื้นที่อื่นรวมเป็นฐานข้อมูลประเทศ ชง "แรงงาน" ร่วมใช้ กำหนดแพคเกจตรวจสุขภาพ
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พื้นที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เป็นแหล่งผลิตหินก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ทำให้มีปัญหาฝุ่นละอองในบรรยากาศในช่วงหน้าแล้งของทุกปี และมีค่าสูงเกินมาตรฐานติดต่อกันหลายวันอย่างต่อเนื่อง จึงถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2547 หน่วยงานในพื้นที่ต้องจัดทำทะเบียนผู้มีโอกาสเสี่ยง จัดทำฐานข้อมูลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชน เพื่อนำมาวิเคราะห์เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ซึ่งเดิมใช้วิธีบันทึกลงสมุดสุขภาพเก็บในแฟ้มเอกสาร ทำให้ใช้เวลาในการสืบค้นนาน การเพิ่มหรือแก้ไขข้อมูลยุ่งยาก อาจเกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูลและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทำแบบฟอร์มประวัติผู้มารับบริการ
นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 (สคร.) ร่วมกับ รพ.สระบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สระบุรี และ ศูนย์อนามัยที่ 4 ร่วมกันพัฒนาระบบบริการตรวจสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงในเขตควบคุมมลพิษ ต.หน้าพระลาน โดยการพัฒนา web-based application จัดการข้อมูลกลุ่มเสี่ยง โดยนำองค์ความรู้ทางอาชีวเวชศาสตร์มาประมวลผลการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ปอดตามมาตรฐาน ILO และผลการตรวจสมรรถภาพปอด และพัฒนาด้วยโปรแกรมจัดการข้อมูลเชิงสัมพันธ์ สร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำเสนอผ่านทางบราวเซอร์ โดยใช้โปรแกรมในการจำลองเครื่องแม่ข่ายที่เป็น Open Source เพื่อลดปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์
"จากการประเมินผลพบว่า สามารถนำมาช่วยในจัดการข้อมูลเพื่อวางแผนเฝ้าระวัง ดูแล รักษา และส่งต่อ แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถกำหนดกลุ่มเสี่ยงเป็น 3 ระดับ คือ เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง ขณะที่ รพ. สามารถติดตาม ยืนยันกลุ่มเสี่ยงโดยเปิดดูจากเว็บแอปพลิเคชัน ผลประเมินมีประสิทธิภาพและประโยชน์ร้อยละ 88.54 พึงพอใจความเป็นปัจจุบันและทันสมัยระดับมากที่สุด ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ประโยชน์ครบถ้วนตามความต้องการ เข้าใจง่าย และข้อมูลถูกต้องน่าเชื่อถือได้ระดับมาก ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น" นพ.รุ่งเรืองกล่าว
ทั้งนี้ หากพัฒนาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ สธ. และขยายผลในพื้นที่อื่น จะทำให้ประเทศไทยมีชุดข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบอาชีพในโรงโม่หินและเหมืองหิน เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเขตควบคุมมลพิษ และให้กระทรวงแรงงานร่วมใช้ประโยชน์จากโปรแกรมได้ จะทำให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และนำไปใช้ในการกำหนดแพ็กเกจการตรวจสุขภาพของหน่วยบริการตรวจสุขภาพให้เป็นมาตรฐานการเดียวกัน เพื่อความสะดวกและถูกต้องในการบันทึกและประมวลผลความเสี่ยงในโปรแกรม