สบส.สำรวจนักดื่มวางแผนฉลอง "สงกรานต์" กับเพื่อน ครอบครัว พบ 71.6% อ้างเป็นเรื่องปกติทุกปี 71.2% บอกเพื่อปลดปล่อยจากการทำงาน และ 70.3% ใช้เพื่อเข้าสังคม กว่า 80% รับรู้ก่ออุบัติเหตุได้
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า กองสุขศึกษา สบส. ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัด สำรวจเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 20 มี.ค – 7 เม.ย. 2566 จำนวน 12,305 คน จากทุกภูมิภาค เฉพาะผู้ที่วางแผนจะฉลองเทศกาลสงกรานต์กับเพื่อนหรือคนในครอบครัวแน่นอน พบว่า เหตุผลในการวางแผนฉลองดื่ม คือ เป็นเรื่องปกติแทบทุกปี ร้อยละ 71.6 เป็นช่วงเวลาที่ปลดปล่อยความเหนื่อยล้าจากการทำงานทั้งปี ร้อยละ 71.2 ใช้เข้าสังคมพบปะญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ร้อยละ 70.3 สำหรับประเด็นการรับรู้ผลเสียเมื่อดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ พบว่า รับรู้ดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุจนตัวเองบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ร้อยละ 87.4 รับรู้ทำให้ขับรถชนคนอื่นได้ ร้อยละ 86.1 และ รับรู้ทำให้โดนตำรวจจับดำเนินคดีได้ ร้อยละ 86
ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ขอให้งดดื่มสุรา เนื่องจากทำให้ทำลายเซลล์ประสาทสมอง ในระยะแรกทำให้ขาดสติ ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุ ในระยะยาวทำให้ความจำเสื่อม เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ตับแข็ง ความดันโลหิตสูง เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โดยสามารถปฏิเสธการดื่ม ด้วยการใช้วิธีการปฏิเสธซ้ำ ไม่ต้องใช้ข้ออ้าง พร้อมทั้งบอกลา และหาทางเลี่ยงจากเหตุการณ์นั้นไป หรือต่อรองผัดผ่อน โดยขอยืดระยะเวลาออกไป เพื่อให้ผู้ชวนเปลี่ยนความตั้งใจ จึงขอเชิญชวนประชาชนดื่มไม่ขับในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดอุบัติเหตุ เดินทางอย่างปลอดภัย ใกล้ชิดครอบครัวอย่างมีความสุข