กรมอนามัย เติอน "น้ำบาดาลโซดา" ยังไม่หมาะบริโภค มาจากแหล่งน้ำดิบ ไม่ผ่านการตรวจและปรับปรุงคุณภาพน้ำ อาจปนเปื้อนสารเคมี เชื้อโรค แนะขออนุญาตใช้น้ำบาดาลให้ถูกต้อง อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีข่าวเจาะบ่อบาดาลเจอน้ำโซดา รสซ่าติดลิ้น ว่า ตามปกติน้ำบาดาลเป็นน้ำดิบยังไม่ผ่านการทดสอบคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการดื่ม อย่างไรก็ตาม แม้น้ำดังกล่าวจะผ่านการทดสอบคุณภาพน้ำจากห้องปฏิบัติการแล้ว ก็อาจจะมีการปนเปื้อนทั้งสารเคมีและเชื้อโรค จึงต้องผ่านการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาดื่ม เช่น การตกตะกอน การกรอง และฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมอนามัยประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แนะนำประเด็นทางกฎหมาย การขออนุญาตขุดเจาะบ่อบาดาล หากยังไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตให้ขออนุญาตขุดเจาะบ่อบาดาลด้วย เพราะบ่อบาดาลที่ชาวบ้านขุดลึก 70 เมตร อยู่ห่างจากระบบประปาหมู่บ้านเพียง 200 เมตร อาจเข้าข่ายความผิดเจาะบ่อบาดาลโดยไม่ได้ขออนุญาต เนื่องจากตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เรื่อง กำหนดเขตน้ำบาดาลและความลึกของน้ำบาดาล พ.ศ. 2554 กำหนดการใช้น้ำบาดาลหากลึกเกินกว่า 15 เมตร จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย
นพ.อรรถพล กล่าวว่า น้ำที่เหมาะสำหรับการบริโภคในครัวเรือน ควรมีคุณภาพตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกรมอนามัยใช้เป็นแนวทางจัดทำเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้มาตลอด ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง เกณฑ์เสนอแนะคุณภาพน้ำบริโภคเพื่อการเฝ้าระวัง กรมอนามัย พ.ศ. 2563 ได้กำหนดเกณฑ์เพื่อชี้วัดคุณภาพน้ำบริโภคที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค ประกอบด้วยเกณฑ์ทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ รวม 21 รายการ เพื่อใช้สำหรับการประเมินคุณภาพน้ำบริโภคให้เหมาะสมกับการบริโภคในครัวเรือนและสนับสนุนให้ประชาชนได้มีน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาด ปลอดภัยต่อไป