คณะวิทย์ มธ.เผย กทม.เสี่ยงจมบาดาลใน 50 ปี จาก 3 สาเหตุ แนะปรับผังเมือง "ไม่ทุบรื้อถอน" ลดใช้งานพื้นที่ชั้น 1 เพิ่ม Sky walk เชื่อมอาคารออฟฟิศ-รถไฟฟ้า เสริมอุดฟันหลอแนวคันกั้นน้ำ "เจ้าพระยา" ย้ายเมืองหลวงทางเลือกสุดท้าย แนะปลูกป่าชายเลนต้องติดตาม เพิ่มปักไม้ไผ่กันคลื่น ลดการกัดเซาะแผ่นดิน ชู 2 แนวทางลดการเผาก่อฝุ่น PM 2.5
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ผศ.ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบภาวะโลกรวน (Climate Change) พบว่า กทม.เป็นหนึ่งในมหานครที่มีความเสี่ยงจมบาดาลภายใน 50 ปี สาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. การทรุดตัวของชั้นดินเฉลี่ย 2-3 ซม.ต่อปี 2. น้ำทะเลหนุน และ 3. การสูญเสียน้ำใต้ดินจากการใช้น้ำบาดาลในอดีต นอกจากนี้ ยังพบว่าเมืองหลวงหรือมหานครหลายแห่งของประเทศต่างๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เช่น อินโดนีเซีย, ไนจีเรีย, สหรัฐอเมริกา (รัฐเท็กซัส , รัฐเวอร์จิเนีย, รัฐฟลอริดา , รัฐลุยเซียนา) , บังคลาเทศ, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ และอิยิปต์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ติดทะเล เป็นเมืองท่า ถือเป็นปัญหาที่หลายประเทศเร่งหาทางออก ซึ่งบางประเทศได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงอย่างอินโดนีเซีย
"การย้ายมหานครควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากกระทบต่อประชาชนและใช้งบประมาณสูงมากกับการจัดผังเมือง สร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภค คณะวิทย์ มธ. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับผังเมือง โดยยึดหลักไม่ "ทุบ รื้อ ถอน" เน้นปรับฟังก์ชัน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ลดพื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้น 1 ใช้งานตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป ลดผลกระทบเหตุน้ำท่วมฉับพลัน 2.เพิ่มทางเดินลอยฟ้า (Sky walk) ที่เชื่อมจากอาคารออฟฟิศกับรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องเดินลุยน้ำ มีต้นทุนไม่สูงมากถ้าเทียบกับการรื้อผังเมืองเพื่อสร้างใหม่หรือย้ายมหานคร และ 3.เสริมแนวคันกั้นน้ำประสิทธิภาพสูง ไม่มีร่องฟันหลอตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา" ผศ.ดร.ไตรเทพกล่าว
ส่วนการรุกคืบของน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งพื้นที่ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ทำให้สูญเสียพื้นที่บกตามแนวชายฝั่งไป จากการลงพื้นที่พบว่า แนวป้องกันอย่าง "ป่าชายเลน" มีไม่มากพอที่จะทำหน้าที่ชะลอความแรงของคลื่นและเพิ่มการตกตะกอน จนนำไปสู่การเกิดแผ่นดินงอกใหม่ได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานรัฐและเอกชน ทำโครงการปลูกป่าชายเลนต่อเนื่อง แต่ปลูกแล้วไม่มีการดูแลติดตามผล ปัญหาคือ การระบายน้ำและของเสียในแปลงปลูก เนื่องจากป่าชายเลนประกอบด้วยโคลนและตะกอน เมื่อสะสมนานไม่มีการไหลเวียนของน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของสารอินทรีย์ ดินตะกอนเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกล้าไม้และตายในที่สุด และยังมีการใช้แปลงปลูกเวียน ปลูกซ้ำ ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนไม่ได้เพิ่มขึ้น แนะนำว่า ต้องสร้างความตระหนักรู้ปลูกแล้วต้องติดตามการเติบโต ดูแลการไหวเวียนของน้ำ และระบบนิเวศแปลงปลูก เป็นกิจกรรมที่ควรทำต่อเนื่อง และวัดผลจากพื้นที่ป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้น แทนจำนวนต้นที่ปลูกใหม่ เสริมกิจกรรมการปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพิ่มเกราะป้องกันแนวป่าชายเลนปลูกใหม่ ช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง ลดความเสี่ยงน้ำทะเลหนุน กทม. และจังหวัดที่ติดชายทะเล
ส่วนปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาของภาคเกษตรกรรมและไฟป่า การแก้ปัญหาระยะยาวที่เริ่มได้ทันที ด้วยการเพิ่มแรงจูงใจเพื่อหยุดการเผาที่ช่วยลด Hot Spot มี 2 แนวทาง คือ 1.เพิ่มรางวัลจูงใจแก่ชุมชนที่ปลอดการเผา 100% อาทิ ให้งบประมาณอุดหนุนการซื้อปุ๋ยราคาพิเศษ, คูปองส่วนลดน้ำมันกลุ่มดีเซลสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ควบคู่ลงโทษจับปรับ และ 2.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ เช่น ดอยหลวงเชียงดาวที่มีแนวทางบริการจัดการเป็นแบบอย่างของวิถีชุมชนกับป่าและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ ตั้งกำลังคนในชุนชนทำงานร่วมกับรัฐทำแนวกันไฟสม่ำเสมอ เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ทำลายทรัพยากร และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เป็นพื้นที่ป่าต้นแบบที่ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี ชุมชนสามารถต่อรองเพื่อของบประมาณพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียง
ในโอกาสที่ คณะวิทย์ มธ. ครบรอบ 37 ปี จึงขอเชิญชวนน้องๆ ที่สนใจเรียนต่อในระดับปริญญาตรีด้านสิ่งแวดล้อมกับ ‘สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม’ และ ‘สาขาเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน’ โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ผ่านทางเว็บไซต์ http://student.mytcas.com หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th, https://www.facebook.com/SciTU/ หรือติดต่อ 025644490 ต่อ 2094