xs
xsm
sm
md
lg

รพ.สวรรค์ประชารักษ์ รุกตรวจได้ยิน "ทารกแรกเกิด" หลังตกหล่นเพียบ ลุยเป็นศูนย์ผ่าตัดหูเทียมปี 69

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ลุยตรวจการได้ยิน "เด็กทารก" ใน รพ.ชุมชน หลังพบยังตกหล่นอื้อ หากมีปัญหาต้องผ่าตัดฝังหูเทียมก่อน 4 ขวบ ลดหูหนวกเป็นใบ้ เร่งยกระดับเป็นศูนย์ผ่าตัดในปี 69 ลดส่งต่เข้า กทม. พร้อมจัดหา "นักแก้ไขการพูด"


เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กทารกแรกเกิดและผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ทั้งนี้ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ดำเนินการเรื่องนี้เป็นอย่างดี สปสช.พร้อมสนับสนุนกลไกงบประมาณช่วยขับเคลื่อน แต่ยังพบปัญหา คือระบบตรวจคัดกรองยังขาดในส่วนของ รพ.ชุมชน และนักอรรถบำบัดเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการสื่อความหมายทางภาษาที่มีการผลิตออกมาน้อยและยังขาดแคลน ซึ่งจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกต่อไป


นพ.นรุตม์ วงศ์สาคร ผู้ช่วย ผอ.ด้านยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 3 คัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดได้ 43.8% หรืออันดับ 5 ของประเทศ จ.นครสวรรค์ ตรวจคัดกรองได้ 41% สาเหตุที่ค่าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากแม้การคัดกรองใน รพ.จังหวัดจะทำได้มากกว่า 90% รวมประมาณ 1,008 ราย แต่ยังมีทารกอีกจำนวนหนึ่งไปคลอดที่ รพ.ชุมชน ทำให้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง โดยมีเด็กที่ได้รับการคัดกรองใน รพ.ชุมชน 860 ราย เพื่อเพิ่มความครอบคลุมจึงวางแผนลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกปี 2566-2567 โดยจะมีโหนดในแต่ละโซน คือที่ อ.ลาดยาว 266 คน อ.บรรพตพิสัย 194 คน อ.ชุมแสง 56 คน อ.ท่าตะโก 103 คน และ อ.ตาคลีอีก 177 คน หากพบเด็กทารกที่มีความผิดปกติ จะต้องตรวจยืนยันและทำการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมก่อนอายุ 4 ขวบ


นพ.อภิชาต วิสิทธิวงษ์ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เมื่อตรวจพบเด็กที่มีความผิดปกติทางการได้ยินก็จะต้องส่งต่อไปรับการผ่าตัดที่โรงเรียนแพทย์ใน กทม. ดังนั้น รพ.มีแผนเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมในปี 2569 เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน จะทำให้ประชาชนในจังหวัดและเขตสุขภาพที่ 3 สามารถมารับบริการได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้า กทม.


ด้าน นพ.ชวพล อิทธิพานิชพงศ์ ผอ.ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า พัฒนาการเด็กจะเริ่มตั้งแต่อายุ 4-6 ขวบ หากตรวจพบและรักษาทัน เด็กจะมีโอกาสได้ยินและสื่อความหมายได้ ถ้าตรวจพบช้า สมองเริ่มพัฒนาด้านภาษาไปแล้ว เด็กนอกจากหูหนวกแล้วยังจะเป็นใบ้ เพราะไม่มีเสียงไปกระตุ้นสมองทำให้ไม่สามารถสื่อภาษาได้ การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีความสำคัญเพียง 50% แต่อีก 50% คือการฝึกฟังและพูดโดยนักแก้ไขการพูด (speech therapy) เพราะเสียงที่เด็กได้ยินผ่านประสาทหูเทียมอาจไม่เหมือนเสียงปกติที่คนทั่วไปยิน ดังนั้นจึงต้องฝึกฟังและพูดสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กทราบว่าเสียงแต่ละเสียงหมายความว่าอย่างไร ซึ่งตามแผนของ รพ.ที่จะเปิดศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569 รพ.กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล นัก speech therapy ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น