สธ.เผย 4 ปัญหาหลัก "ประกันสุขภาพต่างด้าว" แนะปรับปรุง 3 เรื่อง เน้นรุกตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวถึงสถานประกอบการ เชื่อมโยงฐานข้อมูล ก.แรงงาน - ตม. เร่งหารือ คปภ.กำหนดสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาล
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า มีการศึกษาวิจัยสถานการณ์การจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.ตาก พบประเด็นสำคัญ 4 เรื่องคือ 1. ระบบข้อมูลสารสนเทศยังมีปัญหาทั้งความครบถ้วน ความถูกต้อง และทันเหตุการณ์ ไม่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการระบบประกันสุขภาพต่างด้าวของ สธ.ได้ 2. มีช่องว่างของการจัดระบบประกันสุขภาพของ สธ. กับระบบการบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะช่วงโควิด 19
3.รูปแบบการจัดบริการตรวจสุขภาพยังเป็นลักษณะตั้งรับ ทำให้นายจ้างมีภาระในการนำแรงงานต่างด้าวไปรับบริการที่ รพ. และ 4. มีข้อจำกัดในการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสุขภาพในพื้นที่ชายแดน ทำให้ยังมีคนต่างด้าวบางกลุ่มในชุมชนที่เข้าถึงยาก
นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า ข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 และมาตรการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2563 ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.เพิ่มกลุ่มแรงงานต่างด้าว มาตรา 64 ที่นำเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดน ตามประกาศกระทรวงแรงงาน 2.ปรับปรุงรูปแบบการจัดบริการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่สถานประกอบการหรือชุมชน และระบบติดตามกำกับคุณภาพการตรวจสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน และ 3.เร่งรัดการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้บริหารจัดการ ติดตามประเมินผลการจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกระทรวงแรงงาน หรือ ตม.
นอกจากนี้ ในระยะสั้น 3 เดือน ควรหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกระทรวงแรงงาน กำหนดแนวทางกำกับดูแลชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล นำร่องศึกษาความเป็นไปได้พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีความพร้อม ส่วนระยะยาว ควรศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการเสนอกฎหมายรองรับการจัดระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างชาติ ทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประเทศ