xs
xsm
sm
md
lg

รุกแก้ชาวเขา "ติดฝิ่น" ใช้ชุมชนช่วยบำบัด พบเลิกเสพได้ 12% ขยายศูนย์เพิ่มเป็น 27 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สบยช.รุกแก้ปัญหาชาวเขา "ติดฝิ่น" ใช้ชุมชนมีส่วนร่วม พบเข้ารักษาเพิ่มจาก 300 คน เป็น 2,984 คน อยู่ในระบบบำบัดต่อเนื่อง 80% เลิกเสพได้ 12% ช่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพิ่มศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดจาก 7 แห่งเป็น 27 แห่ง



เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดฝิ่นในพื้นที่สูงนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและป่า มีความทุรกันดาร เข้าออกพื้นที่ยาก มีหลายชนเผ่าอาศัย มีความแตกต่างทางความเชื่อ ภาษา และวัฒนธรรม มีประเพณีต้อนรับแขกด้วยฝิ่น และใช้ฝิ่นเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วย ผู้ติดฝิ่นมีสภาพร่างกายทรุดโทรม เหมือนคนตายทั้งเป็น ไม่สามารถทำงานได้ กลายเป็นภาระของครอบครัวที่ต้องดูแล ครอบครัวแตกแยก บุตรหลานไม่ได้รับการศึกษาตามความเหมาะสม จะเข้าสู่การบำบัดรักษาก็ยาก เนื่องจากไม่มีหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ประกอบกับมีฐานะยากจน ไม่มีค่าใช้จ่ายเดินทางเข้ารับการบำบัด วงจรชีวิตจึงดำเนินอยู่ต่อไปกับปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาส และติดฝิ่นเป็นเรื่องยากที่จะหลุดออกจากวงจร หรือเปลี่ยนแปลงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จึงร่วมกับ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ และ รพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน ดำเนินการเชิงรุกใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Participation) เปลี่ยนพื้นที่สีแดงเป็นสีเขียว บูรณาการกับองค์กรภายนอกปรับแก้กฎระเบียบและกฎหมาย เพื่ออำนวยต่อการดำเนินการในบริบทของพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Drop in center) ครอบคลุมในมิติร่างกาย คือ การใช้เมทาโดนระยะยาวในการรักษา , มิติจิตใจ ปรับเจตคติ เสริมพลังดูแลตนเอง และมิติสังคม เปลี่ยนกรอบคิด ปรับมุมมอง ผู้เสพ ผู้ติด คือ ผู้ป่วย ต้องให้การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แก้ปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน


ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สบยช. กล่าวว่า จากการดำเนินงานพบว่า ผู้ติดฝิ่นที่เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้นจาก 300 คน เป็น 2,984 คน อัตราการคงอยู่ในระบบบำบัดร้อยละ 80 อัตราการเลิกเสพฝิ่น ร้อยละ 12.3 เพิ่มจำนวน Drop in Center จาก 7 แห่ง เป็น 27 แห่ง คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ติดฝิ่นหลังเข้ารับบริการอยู่ในระดับดีมาก ทั้งด้านความผาสุกในชีวิต จิตใจและอารมณ์ สังคม และร่างกายอยู่ในระดับมาก ส่วนอาชีพและรายได้อยู่ในระดับปานกลาง และชุมชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม




กำลังโหลดความคิดเห็น