xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "หน้าร้อน" ระวังอาหารบูดง่าย ทำป่วยสารพัดโรค ย้ำพ่อแม่ระวัง "โรคไข้แดดในเด็ก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัยเตือน "หน้าร้อน" อาหารบูดเสียง่าย ระวังโรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด ไทฟอยด์และอหิวาตกโรค แนะวิธีเลือกซื้ออาหาร ด้านกรมการแพทย์ย้ำพ่อแม่เฝ้าระวัง "ไข้หวัดแดด" ในเด็ก จากไข้หวัดใหญ่และถูกกระตุ้นด้วยความร้อน

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนไทยจะมีอุณหภูมิสูง 35-40 องศาเซลเซียส บางพื้นที่อาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว หากปนเปื้อนอาหารจะทำให้บูดเสียง่าย โรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์และอหิวาตกโรค จากการเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่ ม.ค. – ก.ย. 2565 พบผู้ป่วย 410,699 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นกลุ่มอายุ 0-4 ปี มากที่สุดร้อยละ 16.42 มากกว่า 65 ปี ร้อยละ 15.25 และ 25-34 ปี ร้อยละ 13.56 ภาคกลางมีอัตราป่วยสูงสุด ย้ำว่า ควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับรองตลาดสดน่าซื้อ ตลาดนัดน่าซื้อ หรือร้านอาหาร แผงลอยที่ได้มาตรฐาน Clean Food Good Taste เลือกเนื้อสัตว์ อาหารทะเลที่สด ไม่มีสีและกลิ่นผิดปกติ เก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส สำหรับผู้ที่ซื้อจากรถเร่หรือรถพุ่มพวง ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และอาหารทะเลส่วนมากจะแช่น้ำแข็งในตู้แช่ ซึ่งอุณหภูมิไม่เพียงพอ ทำให้เน่าเสียง่าย

ส่วนอาหารปรุงสำเร็จที่บรรจุใส่ถุงพลาสติกไว้ หากสังเกตว่ามีฟองก๊าซเกิดขึ้นในถุงไม่ควรซื้อ หลีกเลี่ยงอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกะทิ เนื่องจากบูดเสียได้ง่าย และเลือกกินอาหารปรุงสุกใหม่ ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เลี่ยงกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ น้ำตก ก้อย หรือ หลู้ ส้า รวมถึงเมนูที่นิยมกินอย่างแพร่หลาย เช่น กุ้งเต้น พล่าปลา กุ้งแช่น้ำปลา ยำหอยแครง อาหารทะเลปิ้งย่าง เป็นต้น หากจะกินอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น อาหารที่ทำไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงหรือเก็บค้างคืน ต้องนำมาอุ่นให้เดือดด้วยความร้อนอย่างทั่วถึงก่อน นอกจากนี้ ควรใช้ช้อนกลางเมื่อกินร่วมกัน ก่อนกินและหลังเข้าห้องส้วมต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่

ด้าน นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า เด็กมีภูมิต้านทานไม่มากนัก จึงมักเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจสุขภาพของบุตรหลาน หมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และหากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะโรคไข้แดด เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ช่วงหน้าร้อน ซึ่งอุณหภูมิภายนอกสูง อาการแสดงของโรคถูกกระตุ้นจากอากาศที่ร้อน ร่วมกับการรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย อาจมีอาการไข้สูงอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัว บางรายอาจมีตาแดง วิธีการดูแลป้องกัน คือ 1. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง 2.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดต่อวันให้เพียงพอ เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากเหงื่อ

3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ พกเจลล้างมือติดตัว 4. ออกกำลังกายเป็นประจำ 5. หลีกเลี่ยงไม่ไปใกล้ชิดปะปนกับคนที่เป็นหวัด ไอ น้ำมูก เพื่อลดโอกาสรับเชื้อ 6. พ่อแม่หมั่นทำความสะอาดบ้าน ของเล่นที่ลูกใช้เป็นประจำ ลดการสะสมเชื้อโรค 7. ไม่เข้าไปในสถานที่แออัด ระบบถ่ายเทอากาศไม่ดี เช่น ตลาดนัด โรงภาพยนตร์ 8. ให้เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด หรืออยู่ในสถานที่อากาศร้อนจัด


กำลังโหลดความคิดเห็น