สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพฯ เตือน อันตราย "โรคฮีทสโตรก" ช่วงหน้าร้อน ยิ่งมีโรคหัวใจและหลอดเลือดยิ่งเสี่ยงสูง ร่างกายทนร้อนมากไม่ได้ เพิ่มการทำงานของหัวใจ แนะ 7 วิธีปฏิบัติช่วงหน้าร้อน ย้ำอุณหภูมิเกิน 34 องศา ให้ลดกิจกรรมกลางแจ้ง หากเกิน 37 องศาให้งดกิจกรรม โดยเฉพาะช่วงเที่ยงถึงบ่ายสอง อย่าลืมสังเกตสีฉี่ หากเข้มมาก บอกอาการขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ออกประกาศ เรื่อง คำแนะนำดูแลสุขภาพในช่วงที่มีอากาศร้อน โดยระบุว่า ปีนี้ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนมากขึ้น โดยคาดว่าอุณหภูมิจะขึ้นสูงถึงเกิน 41 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่จะไปพบปะกันกลางแจ้งในเทศกาลสงกรานต์ และในการทำงานกลางแจ้ง โดยผู้ที่จะได้รับอันตรายมากคือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่รับประทานยาบางชนิค โดยมีข้อเท็จจริง คือ 1. ร่างกายจะรักษาอุณหภูมิกายไว้ที่ 37 องศาเซลเซียสเสมอ แต่เนื่องจากร่างกายมีใช้พลังงานตลอดเวลาทำให้เกิดความร้อนภายใน ถ้าอากาศภายนอกร้อนกว่าก็ถ่ายเทความร้อนออกไปยากขึ้น และ 2. การถ่ายเทความร้อนจากร่างกายมีหลายวิธี แต่ที่สำคัญคือการหลั่งเหงื่อ แต่ถ้าเหงื่อออกมากเกินไปทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่มาก
ภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอากาศร้อน มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โรคที่เกิดจากความร้อนโดยตรง ทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ ซึ่งถ้าไม่แก้ไข โรคที่ร้ายแรงที่สุด คือโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ซึ่งเกิดจากอวัยวะสำคัญในร่างกายล้มเหลวทำให้ถึงแก่กรรมได้ ในทางอ้อม คือ การที่อากาศร้อนทำให้ต้องเพิ่มการลำเลียงเลือดไปที่ผิวหนังเพื่อระบายอากาศ และในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เหมือนที่เคยทำด้วย ทำให้มีการเพิ่มงานของหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น ในกลุ่มที่มีโรคของหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้วจึงไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ ในคนที่รับประทานยาบางชนิดอยู่ก็ทำให้เส้นเลือดไม่ขยายตัว เช่น ยาที่มีฤทธิ์หดเส้นเลือด
สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ขอให้แนะนำให้ประชาชนเพื่อการปฏิบัติตัวในหน้าร้อนดังนี้ 1. ควรตรวจสอบอุณหภูมิภายนอก โดยถ้าอุณหภูมิภายนอกเกิน 34 องศาเซลเซียสควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง และงดกิจกรรมถ้าเกิน 37 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงเวลา 12.00-14.00 น. 2. ไม่สวมใส่เสื้อที่ไม่ระบายความร้อนและเสื้อผ้าที่คับเกินไป 3.ดื่มน้ำบ่อยๆ 4. ถ้ามีโรคประจำตัว ในช่วงอากาศร้อน หัวใจและหลอดเลือดจะทำงานมากขึ้น โรคประจำตัวบางอย่างอาจมีอาการมากขึ้น ถ้ารู้สึกผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ที่ดูแล นอกจากนี้ ยาบางอย่างที่รักษาโรคอาจทำให้การระบายความร้อนไม่ดี และซ้ำเติมอาการได้ 5. ถ้ามีอาการเพลีย กระหายน้ำ อ่อนแรง หรือจะเป็นลมให้รีบหลบเข้าที่ร่ม เปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ ดื่มน้ำเย็น หรือใช้ผ้าชุบน้ำถูตัวบริเวณซอกรักแร้ ขาหนีบ 6. ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ หรือ ญาติพี่น้องที่มีโรคประจำตัว ในช่วงอากาศร้อน และ 7. หมั่นสังเกตสีปัสสาวะ ถ้ามีสีเข้มอาจจะเกิดจากการขาดน้ำ ให้รับประทานน้ำ