xs
xsm
sm
md
lg

เตือน!! "ยาชุด" ซุกร้านชำ อันตรายผสมเอ็นเสด ทำ "ไตวาย" ไม่รู้ตัว พบระบาดถึงเมืองกรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อันตราย! "ยาชุด" ซุกซ่อนร้านชำต่างจังหวัด แพร่ระบาดถึง กทม. มียาเอ็นเสดประกอบหลายตัว ส่งผล "ไตวาย" จากการใช้ยา บางคนใช้ไม่รู้ตัวว่าป่วยยิ่งซ้ำเติม จี้รัฐ สธ. อย. เอาผิด กวาดล้างโฆษณายาชุด เผย 8 ปัจจัยเสี่ยงทำไตเสื่อใจากยาเอ็นเสด

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์-ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานแถลงข่าว “ดูแลไตอย่างไรให้มีสุขภาพดี: เมื่อต้องใช้ยา” ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยติด 1 ใน 5 ประเทศของโลกที่มีอัตราการเกิดโรคไต ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่า ผู้ป่วยไตเรื้อรังมี 11.6 ล้านคน โดยมากกว่า 1 แสนคนต้องล้างไต สาเหตุมาจากกินเค็มและการใช้ยา ซึ่งหลายชนิดก่อปัญหาโรคไตได้ ทั้งยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรบางชนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะยาชุดยังคงเป็นปัญหา มีอันตราย เพราะไม่มีชื่อทางยาใดๆ มีส่วนประกอบ ทั้งสเตียรอยด์ กลุ่มยาเอ็นเสด พาราเซตามอล ยากล่อมประสาท ยาปฏิชีวนะ ยาแก้แพ้ เมทีลีนบลู ซึ่งถอนทะเบียนแล้วแต่ยังมีคนเจอ ไซบูทรามีน วิตามิน นอกจากนี้ ยังมียากษัยเส้นบำรุงไต แต่องค์ประกอบพบกลุ่มเอ็นเสด มีผลทำให้ไตวายได้ง่าย


"ยาเอ็นเสด เป็นยาอันตรายหรือควบคุมพิเศษ มีทั้งหมด 29 ชื่อสามัญทางยา รวม 1,163 ทะเบียนตำรับยา มียาฉีด 8 ชื่อสามัญทางยา รวม 49 ทะเบียนตำรับยา มีคำเตือนเยอะมาก ทั้งห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร คนเป็นโรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง หลายคนไม่รู้ อย่างชาวบ้านใช้กันมาก โดยไม่รู้จักชื่อยา ใช้โดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคไต ที่สำคัญไม่มีเครื่องมือตรวจว่า กินยาเอ็นเสดไปแล้ว ซึ่งยาชุดหลังๆ เลี่ยงสเตียรอยด์ หันมาใช้เอ็นเสดแทน และใช้หลายเม็ด ดังนั้น มาตรการควบคุม ควรมีการสแกนในชุมชน ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

ภก.ไตรเทพ ฟองทอง ผู้แทน สปสช. กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายกองทุนไตวายเรื้อรัง ปีงบประมาณ 2553-2565 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างปี 2553 มีประมาณ 2,218 ล้านบาท ปี 2565 สูงถึง 11,808.81 ล้านบาท โตขึ้นมาเกือบ 6 เท่า ปัจจุบันมีคนไข้ที่ขึ้นทะเบียนรักษารูปแบบต่างๆ รวมทั้งหมด 70,891 ราย พบว่า คนไข้ยิ่งอายุมากยิ่งเจอโรคมาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะสูงขึ้น เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคนในการแอดมิท รพ. ประมาณ 3-5 หมื่นบาท ส่วนสรุปข้อมูลงบประมาณรายจ่ายกองทุนไตวายเรื้อรัง เมื่อปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 9,699.66 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปี 2565 เป็น 11,808.86 ล้านบาท หรือกว่า 21% คนไข้ก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 268,464 ราย เพิ่มเป็น 304.369 ราย หรือ 13.37% แอดมิทเพิ่มขึ้น 7.87% วันนอนเพิ่มขึ้น 14.4% ค่าใช้จ่าย รพ.รวมเพิ่มอีก 14.4%


ด้าน นายธนพล ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีข้อเสนอ 3 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาการใช้ยาจนเสี่ยงเกิดโรคไต คือ 1.ภาครัฐออกมาจัดการเรื่องโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมายังจัดการไม่ได้ 2.กระทรวงสาธารณสุข และ อย. กำกับร้านขายยาจริงจัง เพราะยังมีขายยาชุดอยู่ ทั้งร้านที่มีและไม่มีเภสัชกร อย่างร้านขายของชำพบว่า ผลิตยาเองไม่ได้ ก็เดินไปซื้อยาจากร้านขายยา และ 3.ประชาชนก่อนใช้ยา ควรศึกษาข้อมูลก่อน อย่าหลงเชื่อจากสื่อโฆษณา ซึ่งยาสมุนไพรที่โฆษณาชวนเชื่อ มีแต่บอกข้อดี ไม่เคยพูดข้อเสีย หากป่วยต้องไปพบแพทย์รักษาให้ถูกต้อง

ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า ยาชุดจะมีชื่อต่างๆ เชิญชวน เช่น ยาชุดหมอทหาร ในชนบทจะทำให้ดึงดูดคนเข้าไปใช้ และยังมีชื่อ ยาชุดทหารผ่านศึก หมายถึงขั้นกว่าอีก ระงับปวดได้รุนแรงฉับพลัน ตรงนี้น่าตกใจมาก เพราะหลายครั้งเจอในร้านยา ขณะนี้ก็มีการทำงานควบคุม เฝ้าระวัง แต่ก็ยังพบปัญหาอย่าง 89.72% ของร้านชำในจังหวัดที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง จะพบยาเหล่านี้ซุกซ่อน สร้างอันตรายให้คนในพื้นที่


ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะทำงานสร้างเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภาคประชาชน กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการมีไตเสื่อมจากการใช้เอ็นเสด คือ 1. เป็นผู้สูงอายุ ต้องหลีกเลี่ยงยากลุ่มนี้ 2.เป็นโรคไตตั้งแต่ระยะที่ 3 ต้องหลีกเลี่ยง โดย สธ. มีตัวชี้วัดให้ รพ.ทุกแห่งในสังกัดหลีกเลี่ยงการใช้เอ็นเสดในคนที่ค่าไตระยะที่ 3 และยังมีตัวชี้วัดไม่ให้ รพ.สั่งยาเอ็นเสดซ้ำซ้อน ถือเป็นการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล ห้ามกระทำ 3.ร่างกายขาดน้ำ ต้องระมัดระวังห้ามใช้เอ็นเสด เสี่ยงไตวายเฉียบพลันได้ 4.มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจล้มเหลว ตับแข็ง ห้ามใช้ยาเอ็นเสด 5.ใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ 6. ใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดบางชนิด เช่น อีนาลาพริล โลซาแทน 7.ใช้เอ็นเสดหลายชนิดร่วมกัน และ 8.ใช้เอ็นเสดในขนาดสูง ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

“ปัญหายาชุด ไม่ได้พบเฉพาะต่างจังหวัด ใน กทม.ก็พบเช่นกัน ล่าสุดมีคนโพสต์ปัญหานี้ย่านห้วยขวาง ได้ยาชุดที่มักมีเอ็นเสดเป็นส่วนประกอบ และหลายครั้งมีเอ็นเสดหลายตัว ทำให้เกิดปัญหา ผลกระทบต่อร่างกาย การขายยาชุด ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งยาชุด ถือเป็นยาพิษ ก่อปัญหาต่างๆ รวมทั้งเรื่องไต” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวและว่า ฝากถึง อย.ควรออกเป็นกฎหมายกำกับที่ฉลากยาว่า ยาชนิดไหนเป็นยาเอ็นเสด กำหนดให้ชัดเจน และระบุเตือนว่า ยานี้เสี่ยงไตวาย เป็นต้น และรพ.ควรรายงานข้อมูลดังกล่าวไปยัง HA เช่น คนไข้เป็นไตอาจมีความสัมพันธ์กับยา ซึ่งหากมีโอกาสจะขอหารือกับทางสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เก็บข้อมูล


กำลังโหลดความคิดเห็น