อาจารย์แพทย์แผนไทย แจงตำรับยาหมอหลวง “กัญชา” รักษา “คีลอยด์” ใช้สมุนไพรร่วมกันหลายตัว ย้ำทุกตัวล้วนมีพิษ ต้องปรุงโดยแพทย์เวชกรรม ชี้เป็นการรักษาเฉพาะราย โรคเดียวกันก็ใช้รักษาไม่เหมือนกัน เตือนใช้ "กัญชา" ต้องระมัดระวัง มีหลายตำรับรักษาได้อย่าเพิ่งรีบใช้กัญชา
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. พท.คมสัน ทินกร ณ อยุธยา อาจารย์แพทย์แผนไทย คลินิกการแพทย์แผนไทย ม.ร.ว.สอาด ทินกร รองคณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต และที่ปรึกษาละคร “หมอหลวง” กล่าวถึงตำรับยารักษารอยแผลเป็นนูน (คีลอยด์) ซึ่งมีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ว่า ตำรับยาแผนไทยที่ใช้จะเป็นการปรุงขึ้นมาสำหรับรักษาโรครายบุคคล หมายความว่าต่อให้เป็นโรคเดียวกัน แต่ก็รักษาไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับตำรับยารักษาคีลอยด์ ต้องดูว่าแผลเป็นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งส่วนประกอบในตำรับยาดังกล่าวเป็นยาอันตรายใช้ภายนอก เนื่องจากเป็นวัตถุมีพิษออกฤทธิ์หมด คนที่จะปรุงยานี้ได้ต้องเป็นแพทย์เวชกรรมเท่านั้น เพราะจะรู้วิธีเอาพิษออกเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในตำรับยา ชาวบ้านปรุงเองไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ได้รับอันตรายได้
พท.คมสัน กล่าวว่า ตำรับยารักษาคีลอยด์ที่นำเสนอในละคร เป็นเพียงขนานหนึ่งในหลายๆ ขนานที่ใช้ในการรักษาคีลอยด์เท่านั้น มีส่วนประกอบของจุนสี สรรพคุณใช้กัดล้างหัวฝี หัวหูด , ใบระงับ มีรสเย็นใช้เข้าตำรับยาเขียว ช่วยลดอาการอักเสบจากพิษไข้ , ใบต้นรัก ใช้ปรุงเป็นยาใช้ภายนอก รักษาแผลคุดทะราด เป็นต้น , ใบกัญชา มีรสเมาเบื่อ เข้าเครื่องยาที่ใช้ภายนอกได้ ช่วยขับพิษ ย้ำว่าสูตรยานี้ต้องปรุงโดยแพทย์เวชกรรมเท่านั้น อย่างกัญชาขณะนี้ไทยมีการอนุญาตให้ใช้รักษาโรคได้ มีรสเมาเบื่อ และแสดงออกทางผิวหนังจึงนำมาใช้ในตำรับด้วย แต่ก่อนจะเอาใบกัญชา หรือส่วนใดๆ ของกัญชาไปเข้าตำรับยาต้อง “สะตุ” หรือฆ่าฤทธิ์ลงก่อน และใช้จุนสี ซึ่งมีพิษเช่นกัน นำไปหักล้างพิษกัญชา หรือทำให้ความเป็นกรด ด่างเสมอกัน เพื่อไม่ให้เกิดโทษจากยา
“การใช้ยาในทางการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะยากินนั้นไม่มีทางที่จะใช้ยาเพียงแต่เดียว เพราะถ้าใช้ตัวเดียวอาจจะระงับอาการเบื้องต้นได้ แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะก่อโทษได้ ดังนั้นเราจึงใช้สมุนไพร 2 ชนิดมาปรุงยาเพื่อให้หักล้างกัน เพื่อให้ยานั้นมีความเสถียร และปลอดภัยขึ้น หมอไทยจึงใช้ตำรับยา ไม่ใช้สมุนไพรเดี่ยว” พท.คมสัน กล่าว
เมื่อถามถึงการอนุญาตใช้กัญชาในไทย พท.คมสัน กล่าวว่า กัญชามีฤทธิ์เมาเบื่อ ต้องใช้ให้ถูกต้อง โดยผู้รู้ เช่นการนำมาใส่อาหารให้ผู้อื่นรับประทาน ซึ่งจะรู้ได้ยากว่าใครบ้างที่จะมีอาการแพ้กัญชา บางคนแพ้ บางคนไม่แพ้ ซึ่งที่ไม่แพ้อาจจะเป็นเพราะโดสกัญชามีน้อยก็ได้ จึงต้องระมัดระวัง จริงๆ เราทำอาหารกันมานาน ไม่ได้ใส่กัญชาด้วยซ้ำ พออนุญาตแล้วจำเป็นต้องใส่หรือไม่ แล้วใส่เพื่อวัตถุประสงค์อะไร
เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้มีบางคนที่ระบุว่าสูบกัญชาเป็นการรักษาโรค พท.คมสัน กล่าวว่า แต่โบราณอาจจะมี แต่เนื่องจากกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทยมานาน 50 ปี ดังนั้นแพทย์แผนไทยจึงไม่ได้มีการใช้ หากมาใช้ปุบปับอาจจะมีปัญหาได้ เพราะเราไม่มีประสบการณ์ในการใช้มานานแล้ว กว่าจะสะสมทักษะประสบการณ์การใช้ก็หลายปี ดังนั้น ปัจจุบันเมื่อมีการอนุญาตแล้ว แพทย์แผนไทยก็มีความสบายใจที่จะใช้มากขึ้น แต่ก็ต้องระมัดระวัง และยังมียาอีกหลายตำรับ หลายขนานที่สามารถใช้รักษาโรคได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งบอกว่าสูบกัญชาแล้วหายจากโรคได้ เพราะเป็นเพียงเฉพาะราย