xs
xsm
sm
md
lg

คนปราจีนฯ 75% กังวลผลกระทบ "ซีเซียม" ห่วงแพร่กระจาย ตกค้างสิ่งแวดล้อม มีผลสุขภาพระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เผยคนปราจีนฯ กว่า 75% กังวลเหตุรังสี "ซีเซียม" หวั่นแพร่กระจาย ตกค้างในสิ่งแวดล้อม กระทบสุขภาพระยะยาว ต้องการข้อมูลผลกระทบ ความปลอดภัย อาหาร น้ำ ผักผลไม้ เผยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอาหารและน้ำบริเวณใกล้เคียง ส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และศูนย์อนามัยที่ 6 จ.ชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 และสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำบริเวณโดยรอบชุมชน โกดัง และที่เก็บฝุ่นเหล็กดังกล่าว ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร เช่น ปลาทะเลสด ผักและผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่ น้ำประปาที่ใช้ในครัวเรือน น้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และน้ำบ่อตื้นที่ใช้การรดผักและผลไม้ พร้อมทั้งจัดส่งตัวอย่างดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แล้ว ส่วนผลการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านอนามัยโพล ตั้งแต่วันที่ 23-24 มี.ค. 2566 จำนวน 379 คน พบว่า ประชาชนทราบข่าวและรู้สึกกังวลมากถึงร้อยละ 75.5 ทราบข่าวแต่ไม่รู้สึกกังวลหรือไม่สนใจข่าวนี้ ร้อยละ 23.5

สำหรับเหตุผลที่ประชาชนกังวล คือ การแพร่กระจายและตกค้างในสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 93.7 รองลงมา คือ ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ร้อยละ 89.8 และไม่มั่นใจในการดูแลจัดการของโรงงาน กลัวเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ร้อยละ 62.9 นอกจากนี้ ประชาชนต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
ในระยะยาว ร้อยละ 80.2 ข้อมูลด้านความปลอดภัยของอาหาร ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม ร้อยละ 77 วิธีลดและป้องกันการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและการเข้าสู่ร่างกาย ร้อยละ 73.6 สำหรับสิ่งที่ประชาชนต้องการให้หน่วยงานสาธารณสุขดำเนินการมากที่สุด คือ การเฝ้าระวังตรวจการตกค้างในอาหารและน้ำ ร้อยละ 80.2 การตรวจสุขภาพกรณีที่รู้สึกมีอาการผิดปกติ ร้อยละ 78.6 และการสื่อสารและให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ร้อยละ 77.3








กำลังโหลดความคิดเห็น